คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15911/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุน และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จาก พ. ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอย่างใด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกและมอบทะเบียนรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไตรตอน สี T 69 หมายเลขเครื่องยนต์ KA 4 TNENMFRU หมายเลขตัวรถ MMTENKA 407 D 011239 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 60,000 บาท และในอัตราวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเช่ารถบุคคลอื่นเป็นเงิน 16,000 บาท และในอัตราวันละ 2,000 บาท สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์นำรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขตัวรถ MMTENKA 407 D 011239 หมายเลขเครื่องยนต์ 4 D 56 UCAB 0529 สีฟ้า คืนแก่จำเลยที่ 1 ในสภาพใหม่ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 447,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์นำรถยนต์พิพาทไป คือ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 78 วัน เป็นเงิน 78,000 บาท และให้โจทก์เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 525,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน
โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนรถยนต์ต่อนายทะเบียนและมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่น TRITON สี T 69 หมายเลขเครื่องยนต์ KA 4 TNENMFRU หมายเลขตัวรถ MMTENKA 407 D 011239 ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และกฎกระทรวง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์วันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะขอจดทะเบียนและส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์หรือนับถึงวันที่ถือได้ว่ามีการจดทะเบียนและส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแล้ว แต่ทั้งนี้เมื่อนับถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มกราคม 2549) คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์วันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันฟ้อง แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าขายรถยนต์ ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 และได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ในการขายรถยนต์ โจทก์ได้ติดต่อซื้อรถยนต์กระบะ ยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นไตรตอน (TRITON) สี T 69 หมายเลขเครื่องยนต์ KA 4 TNENMFRU หมายเลขตัวรถ MMTENKA 407 D 011239 ที่พิพาทของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ได้รับมอบรถยนต์ไปจากจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ตลอดมา แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนและส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาลักทรัพย์รถยนต์คันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 447,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 329/2551 ของศาลชั้นต้น สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 1 โดยเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกก่อนว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยไม่สุจริต ตั้งแต่การชำระเงินจองรถยนต์ในจำนวนที่สูงเกินกึ่งหนึ่งของราคาซื้อขาย และได้มีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 กับบุคคลอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 โดยไม่มีใบเสร็จรับเงินใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ทั้งราคารถยนต์ที่กำหนดในใบจองก็ถูกกว่าราคาตามท้องตลาดเป็นอย่างมาก โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทในราคาถูกกว่าต้นทุน และไม่ได้ซื้อ ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำใบจองรถยนต์อันเป็นเท็จ และจำเลยที่ 2 เห็นแก่อามิสสินจ้างที่ได้รับจากโจทก์จนยอมกระทำความผิดอาญาเพื่อให้โจทก์รับรถยนต์พิพาทไปโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์และนายณรงค์ บุตรเขยโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไปซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ที่สาขาปทุมธานี โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 และตกลงซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาทเศษ โจทก์วางเงินจองล่วงหน้า 200,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จำเลยที่ 2 ได้มอบใบจองรถยนต์และนามบัตรของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ไว้ ส่วนที่เหลือโจทก์ให้นายณรงค์เป็นผู้นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 2 โดยนายณรงค์ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ โดยนัดหมายให้มารับใบคู่มือจดทะเบียนรถในภายหลัง และจำเลยที่ 2 ได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถ ให้แก่โจทก์ไว้เป็นหลักฐานด้วย ทั้งโจทก์มีนายไพฑูรย์ เพื่อนบ้านโจทก์มาเบิกความสนับสนุนว่า พยานเคยซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 สาขาปทุมธานี โดยจำเลยที่ 2 ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กรอกข้อความในใบจองรถยนต์ ในวันที่โจทก์ไปซื้อรถยนต์พิพาท พยานไปพร้อมกับโจทก์และเห็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้กรอกข้อความในใบจองรถยนต์ ส่วนจำเลยที่ 1 เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า โจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำใบจองรถยนต์อันเป็นเท็จเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานมาสืบและไม่มีพยานใดเบิกความยืนยันว่าโจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำใบจองรถยนต์ดังกล่าว อันเป็นเท็จขึ้นมาตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน กลับได้ความว่าโจทก์ไปซื้อรถยนต์พิพาทเนื่องจากก่อนหน้านี้นายไพฑูรย์เคยไปซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรถยนต์ที่นายไพฑูรย์ซื้อไปสามารถจดทะเบียนโอนได้ตามปกติ หลังจากโจทก์ชำระเงินจองแล้ว โจทก์ได้ให้นายณรงค์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นตามที่จำเลยที่ 2 บอกให้โอนจำนวนหลายครั้ง หากโจทก์และจำเลยที่ 2 สมคบกันจริงก็ไม่มีเหตุผลที่จะโอนเงินให้จำเลยที่ 2 หลายครั้งเช่นนี้ แม้บุคคลอื่นที่นายณรงค์โอนเงินให้ไปจะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การโอนก็มีเอกสารการโอนเป็นหลักฐาน และได้ความจากคำเบิกความของนายณรงค์ว่า พยานไม่ทราบว่าจะต้องได้รับใบเสร็จรับเงินด้วย ทั้งไม่เคยเห็นประกาศของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องวิธีการชำระเงิน ดังนั้น ลำพังแต่การที่โจทก์และนายณรงค์ไม่เห็นการติดประกาศเรื่องวิธีการชำระเงินของจำเลยที่ 1 ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 จะอนุมานเอาเองตามที่ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ไปซื้อรถยนต์ ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 อาจจะยังไม่ได้ติดประกาศไว้ หรือหากติดประกาศไว้โจทก์และนายณรงค์อาจจะไม่ได้สังเกตก็เป็นได้ และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าราคารถยนต์พิพาทที่กำหนดในใบจองถูกกว่าราคาท้องตลาดเป็นอย่างมากและการชำระเงินจองรถยนต์พิพาทในจำนวนที่สูงเกินกึ่งหนึ่งของราคาซื้อขายเป็นการผิดปกตินั้น ก็ปรากฏจากใบจองรถยนต์ว่าโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ในราคา 443,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคา 447,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ตั้งราคาไว้ แม้จะมีส่วนลดเงินสด 55,000 บาท และมีของแถมอีกหลายรายการรวมเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท ก็ตาม แต่ส่วนลดและของแถมเป็นข้อเสนอของจำเลยที่ 2 เพื่อจูงใจให้โจทก์ซื้อรถยนต์ซึ่งโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าส่วนลดและของแถมเกินกว่าจำนวน 5,000 บาท ที่บริษัทมิตซูบิชิมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีระเบียบห้ามตัวแทนผู้ขายไว้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 1 กับบริษัท และการที่โจทก์ชำระเงินจองสูงถึง 200,000 บาท ก็มิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ลักรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 ไปขายให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 จนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 447,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นหรือสมคบกับจำเลยที่ 2 หรือให้อามิสสินจ้างแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ลักรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฎีกา ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ด้วย ประกอบกับการลักทรัพย์ดังกล่าว เป็นการกระทำที่เกิดหลังจากที่จำเลยที่ 2 ตกลงขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เป็นลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีโอกาสทราบได้ว่าจำเลยที่ 2 จะนำรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ตกลงซื้อได้อย่างไร ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ลูกค้าย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจนำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาส่งมอบให้โจทก์ได้ ส่วนที่ได้ความจากคำเบิกความของนางสาววันใส พยานจำเลยที่ 1 ว่า ตามปกติในการที่จะนำรถยนต์ออกจากบริษัทจำเลยที่ 1 จะต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีและหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการชำระเงินแล้ว แต่ที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทออกไปจากบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่มีหลักฐานการชำระเงินจากโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 2 ให้ดี ซึ่งเป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รับเงินจากโจทก์แล้ว แต่ไม่นำเงินไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง พฤติการณ์แห่งคดีตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์สมคบกับจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทโดยไม่สุจริตตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการจดทะเบียนและมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นไปโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้นแล้วว่าโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุนเป็นเงิน 100,000 บาทเศษ และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จากนายไพฑูรย์ไปแล้ว ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว และจำเลยที่ 1 ไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์คืนรถยนต์พิพาทและชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 200,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องและฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share