คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4188/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งหกฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าท. ได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ทั้งหกคนละส่วนเท่า ๆ กันคิดราคารวม 205,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง โจทก์ทั้งหก อุทธรณ์ขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้อง ฉะนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาท ในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนต้องคิดตามส่วนแบ่งของโจทก์ แต่ละคน ไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์รวมกันมา เมื่อทุนทรัพย์พิพาท ในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงต้องห้าม โจทก์ทั้งหกมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของ โจทก์ทั้งหกที่ขอให้ส่งพินัยกรรมไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งไม่ชอบ และ พินัยกรรมฉบับที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่ใช่พินัยกรรมปลอมโจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งในปัญหาที่ศาลชั้นต้นสั่งยก คำร้อง ของ โจทก์เพราะได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้แล้วนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจที่ว่าศาลชั้นต้นเห็นควรส่งพินัยกรรม ไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งหรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งนำไปสู่ การพิจารณาในข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งหกมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งหก จะได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์ทั้งหก จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกในปัญหาที่ว่า พินัยกรรมที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่ใช่พินัยกรรมปลอมเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ที่ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของ โจทก์ทั้งหกและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้นฎีกาของโจทก์ทั้งหกที่ว่าโจทก์ทั้งหกโต้แย้งคำสั่ง ศาลชั้นต้นไว้แล้วและพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอมจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายเทียนไล้ ปัญจะเทวคุปต์ โจทก์ทั้งหกเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเทียนไล้ซึ่งเกิดกับนางศุภร ปัญจะเทวคุปต์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529 นายเทียนไล้ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคเลือดออกในกระเพาะอาหารที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2529 โจทก์ที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเทียนไล้ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนไล้หลังจากนั้นจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านอ้างว่านายเทียนไล้ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2527 กำหนดให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกทอดแก่เด็กชายวุฒิเอก เย็นจิตต์ ในที่สุดศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเทียนไล้ ต่อมาปรากฏว่าก่อนถึงแก่กรรมนายเทียนไล้ได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2529รวม 3 ฉบับ เป็นพินัยกรรมฉบับที่เขียนด้วยมือกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินไว้ว่า ให้ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 111367ตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์แก่เด็กชายวุฒิเอก เย็นจิตต์ ส่วนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 111360, 111361, 111362 และ 111363ตกทอดเป็นกรรมสิทธิ์แก่บุตรและธิดา ของนายเทียนไล้ซึ่งเกิดกับนางศุภร ให้ทุกคนได้กรรมสิทธิ์คนละส่วนเท่ากัน พินัยกรรมฉบับหลังนี้จึงเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2527 ทั้งสิ้น โจทก์ทั้งหกจึงเป็นผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว ขอให้บังคับให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 111360, 111361, 111362 และ 111363 รวม 4 โฉนด ให้แก่โจทก์ทั้งหกพร้อมทั้งมอบโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหก หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการทำพินัยกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวหากปฏิบัติไม่ได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 205,500 บาท แก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องโดยยกขึ้นอ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า นายเทียนไล้ ปัญจะเทวคุปต์ ได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ทั้งหกคนละส่วนเท่า ๆ กัน คิดราคารวม 205,500 บาท ฉะนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนต้องคิดตามส่วนแบ่งของโจทก์แต่ละคน ไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์รวมกันมา ดังนั้น ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งหกที่ขอให้ส่งพินัยกรรมไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งไม่ชอบ และพินัยกรรมฉบับที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่ใช่พินัยกรรมปลอม เห็นว่า อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่ว่าโจทก์ทั้งหกมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ของโจทก์เพราะได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้แล้วเป็นการโต้แย้งดุลพินิจที่ว่าศาลชั้นต้นเห็นควรส่งพินัยกรรมไปตรวจพิสูจน์อีกครั้งหรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงซึ่งนำไปสู่การพิจารณาในข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งหกมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแม้โจทก์จะได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกในปัญหาที่ว่าพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่ใช่พินัยกรรมปลอมก็เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ย่อมต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ทั้งหกที่ว่าโจทก์ทั้งหกโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว และพินัยกรรมที่โจทก์ทั้งหกนำมาฟ้องไม่เป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์และยกฎีกาโจทก์ทั้งหกคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดให้โจทก์ทั้งหก

Share