คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปเรียกผู้โดยสารในท่าอากาศยานไม่ปรากฎว่ารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด คงเป็นเพียงการเข้าไปชักชวน ผู้โดยสารให้ใช้บริการรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 แม้จะทำให้ รถแท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของการท่าอากาศยานฯ ต้องขาด รายได้ไปบางส่วนก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐาน รบกวนผู้โดยสารตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2528) ข้อ 8(6) งออกตามความในพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 4(2) ต. เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยจึงเป็นพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต. ได้รับทราบทางวิทยุว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ.กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุม ต่อมาประมาณ 10 นาที ต. ได้รับแจ้งว่าอ. กำลังถูกรุมทำร้ายจึงรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี แสดงว่า ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ต.อนุญาตให้อ.ณ.และย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลยกรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือกระทำตามหน้าที่เพราะต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้วการที่ อ.ณ.และย.เข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติ การหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138,289(3),296 แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุโดยปรากฎตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ว่าผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายจากการเข้าจับกุมเพียงเป็นรอยถลอกและบวมเล็กน้อยตามบริเวณแขน ข้อมือ และขมับการกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางจับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะในการปฎิบัติหน้าที่นี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในอันที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฎิบัติหน้าที่แทนตน เห็นได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เจ้าพนักงานจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรบกวนผู้โดยสารซึ่งจะต้องถูกจับหรือไม่บุคคลอื่นหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ดังจะเห็นได้ในคดีนี้ว่าผู้จับวินิจฉัยผิดพลาดและเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ และแม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3จะถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกาเห็นสมควรยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมคือ
1. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2536 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยที่ 1 พูดจาชักชวนชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้โดยสารอากาศยานให้ใช้บริการรถยนต์รับจ้างโดยสารผิดกฎหมาย (แท็กซี่ป้ายดำ)ของจำเลยที่ 1 กับพวก อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบและกระทำการอันเป็นการรบกวนผู้โดยสารอากาศยานหรือผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญภายในชานชาลาผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าท่าอากาศยานกรุงเทพ ซึ่งเป็นเขตท่าอากาศยานควบคุม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อ 8(6) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 4(2)
2. ตามวันเวลาในฟ้องข้อ 1 นายเอกชัย แก้วสุริยานายณรงค์ ดีใจและนายยุทธนา สืบสาย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย งานตระระงับเหตุ กองปฎิบัติการ ประจำท่าอากาศยานกรุงเทพ ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในเขตท่าอากาศยานควบคุม พบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1 และได้รับคำสั่งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานกรุงเทพซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายให้เข้าระงับเหตุและจับกุมจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฎิบัติการตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 บังอาจขัดขืนและต่อสู้ขัดขวางการจับกุม โดยจำเลยทั้งหกร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง ใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนเหล็กยาวประมาณ 2 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งหนึ่งเหล็กไขนอตล้อรถยนต์ยาวประมาณ 1 ฟุต เป็นอาวุธ ตี ฟาด และชกต่อย เตะถีบนายเอกชัย นายณรงค์ และนายยุทธนา ผู้เสียหายผู้เข้าจับกุมจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ เพราะเหตุที่ได้ช่วยพนักงานรักษาความปลอดภัยในการปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าว
เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งหกและยึดท่อนเหล็ก 1 ท่อนเหล็กไขนอตล้อรถยนต์ 1 อัน ที่จำเลยทั้งหกใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,138, 140, 296, 379 พระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2522 มาตรา 4(2), 29, 48 กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2528)ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ข้อ 5, 8(6) และริบของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 148 วรรคหนึ่ง, 296, 379การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และจำเลยที่ 1มีความผิดฐานรบกวนผู้โดยสารอากาศยานตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 48 วรรคหนึ่งอีกกระทงหนึ่ง ลงโทษปรับ 1,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1จำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการรบกวนผู้โดยสารอากาศยานให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญตามฟ้องข้อ 1 หรือไม่นายเอกชัย แก้วสุริยา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยานโจทก์เบิกความว่า พยานพบเห็นจำเลยที่ 1 กำลังเรียกผู้โดยสารชาวต่างประเทศขึ้นรถ พยานจึงเข้าจับจำเลยที่ 1 อีกตอนหนึ่งเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กวักมือเรียกผู้โดยสารซึ่งอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ผู้โดยสารกลุ่มนั้นเดินตามจำเลยที่ 1 ออกไป พยานเห็นจำเลยที่ 1 เข้าไปเรียกผู้โดยสารในท่าอากาศยานกรุงเทพทุกวันโดยเรียกไปขึ้นรถยนต์รับจ้างส่วนตัวป้ายดำ และอีกตอนหนึ่งเบิกความว่าพยานได้ยินจำเลยที่ 1 ตะโกนเรียกรถแท็กซี่ นายณรงค์ ดีใจ พยานโจทก์ ผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่า พยานเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 ต้องการนำผู้โดยสารไปส่งยังโรงแรม นายยุทธนา สืบสาย พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ชักชวนผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้ไปกับจำเลย โดยจะพาไปรับบริการรถแท็กซี่หรือโรงแรม ดังนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ปรากฎว่าได้รบกวนผู้โดยสารอากาศยานให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่อย่างใด คงเป็นเพียงจำเลยที่ 1 เข้าไปชักชวนผู้โดยสารให้ใช้บริการรถแท็กซี่ของจำเลยที่ 1 แม้จะทำให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในความควบคุมของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยต้องขาดรายได้ไปบางส่วนกรณีก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรบกวนผู้โดยสารตามฟ้องข้อ 1
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางจับกุมและทำร้ายผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฎิบัติการตามหน้าที่ตามฟ้องข้อ 2 หรือไม่ นายเอกชัย แก้วสุริยา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุนายเตรียม สมุหเสนีโต เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัย ดังนี้ นายเตรียมจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ลงวันที่6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นายเตรียมเป็นพยานโจทก์เบิกความว่าเวลาเกิดเหตุพยานอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร พยานได้รับแจ้งเหตุจากนายเอกชัย แก้วสุริยาทางวิทยุมือถือว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า พยานจึงได้สั่งให้นายเอกชัยกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นให้ช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุมและอีกตอนหนึ่งเบิกความว่า พยานได้รับแจ้งเหตุจากนายเอกชัยพยานไม่ได้เห็นด้วยตนเอง นายสุชิน พงษ์เทศ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกผู้หนึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า ขณะนายเตรียมได้รับแจ้งเหตุทางวิทยุพยานอยู่กับนายเตรียม ต่อมาประมาณ10 นาที นายเตรียมได้รับแจ้งทางวิทยุจากนายเอกชัยว่ากำลังถูกรุมทำร้ายพยานจึงวิ่งไปที่เกิดเหตุ ส่วนนายเตรียมเดินตามไปเมื่อพยานไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี ดังนี้แสดงว่านายเตรียมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่นายเตรียมอนุญาตให้นายเอกชัย นายณรงค์และนายยุทธนาซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลยนายเตรียมไปถึงที่เกิดเหตุที่หลังนายสุชิน ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พวกจำเลยหลบหนีไปแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือว่านายเตรียมเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เพราะนายเตรียมไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้ว การที่นายเอกชัย นายณรงค์ และนายยุทธนาเข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 289(3), 296 ตามที่โจทก์ฟ้อง แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ต้องถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุโดยปรากฎตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์แนบท้ายฟ้องว่า ผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายจากการเข้าจับกุมเพียงเป็นรอยถลอกและบวมเล็กน้อยตามบริเวณแขน ข้อมือ และขมับการกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการปฎิบัติการตามหน้าที่ตามฟ้องข้อ 2 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ในการปฎิบัติหน้าที่หาจำต้องมีผู้บังคับบัญชาซึ่งหมายถึงเจ้าพนักงานอยู่ร่วมปฎิบัติการด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะในกรณีนี้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในอันที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฎิบัติหน้าที่แทนตนจะเห็นได้ชัดว่าเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เจ้าพนักงานจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรบกวนผู้โดยสารซึ่งจะต้องถูกจับหรือไม่ บุคคลอื่นหรือผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ ดังจะเห็นได้ในคดีนี้ว่าผู้จับวินิจฉัยผิดพลาดและเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฟังขึ้นแม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 จะถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรยกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์รวมตลอดถึงจำเลยที่ 3ของกลางคืนเจ้าของ

Share