คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2030/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในเรื่องขยายระยะเวลา เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับ คดีนี้ โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ส่งสำนวนไปให้สำนักงานอัยการเขตเพื่อให้อัยการศาลสูงพิจารณาแต่สำนักงานอัยการเขตมีสำนวนที่จะต้องพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำนวนมากจึงไม่อาจพิจารณาให้ทันกำหนดเวลาอุทธรณ์นั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนจำนวนมากเป็นพิเศษ ทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยฟังแล้วแต่โจทก์ละเลยเพิกเฉย เพิ่งมายื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาคำให้การพยานโจทก์ คำให้การพยานจำเลย และเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ เพียง 2 วัน ศาลชั้นต้นก็อนุญาตในวันนั้นโดยมิได้ชักช้า ทั้งยังอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์อีก 2 ครั้งเป็นเวลากว่า 15 วัน การที่สำนักงานอัยการเขต ไม่อาจพิจารณาอุทธรณ์ได้ทันกำหนดเวลาเกิดจากเหตุ ที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการเสียแต่แรกเมื่อได้ฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยาย ระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 48, 73 และ 74 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้ลงโทษจำเลยข้อหาทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ข้อหาแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ข้อหามีไม้แปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 3 ปี ปรับ 25,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 2 ปี ริบของกลาง และให้จ่ายสินบนนำจับกึ่งค่าปรับ
ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์ 2 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษาคำให้การพยานโจทก์ คำให้การพยานจำเลยและเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลทั้งหมดและในวันเดียวกันนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 30 วัน โดยอ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับสำเนาเอกสารดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2540 ครั้นถึงวันครบกำหนดอุทธรณ์โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 30 วัน โดยอ้างเหตุว่าได้ส่งสำนวนไปให้สำนักงานอัยการเขต 2 เพื่อให้อัยการศาลสูงพิจารณาสำนักงานอัยการเขต 2 ยังมิได้ส่งสำนวนคืนมา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2540 ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์1 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 30 วันโดยอ้างเหตุว่าสำนักงานอัยการเขต 2 มีสำนวนที่จะต้องพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจจะพิจารณาให้ทันกำหนดเวลาอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้ว 2 ครั้ง เป็นเวลากว่า 15 วัน จึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องของโจทก์นั้น เห็นว่า ในเรื่องขยายระยะเวลานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ โดยมาตรา 23 บัญญัติว่า “เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นแต่การขยายหรือย่นระยะเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ศาลจะสั่งขยายระยะเวลาได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษเท่านั้น จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า เหตุผลตามที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 3 ฉบับลงวันที่ 14 มกราคม 2540 ถือได้หรือไม่ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ส่งสำนวนไปให้สำนักงานอัยการเขต 2 เพื่อให้อัยการศาลสูงพิจารณา แต่สำนักงานอัยการเขต 2 มีสำนวนที่จะต้องพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำนวนมากจึงไม่อาจพิจารณาให้ทันกำหนดเวลาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า คดีนี้มิได้มีถ้อยคำสำนวนจำนวนมากเป็นพิเศษทั้งมิได้มีปัญหายุ่งยากสลับซับซ้อน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 แต่โจทก์ละเลยเพิกเฉย เพิ่งมายื่นคำร้องขอถ่ายคำพิพากษา คำให้การพยานโจทก์ คำให้การพยานจำเลยและเอกสารที่โจทก์อ้างส่งศาลเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ก่อนครบกำหนดอุทธรณ์เพียง2 วัน ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้วันนั้นโดยมิได้ชักช้าทั้งยังอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์อีก 2 ครั้ง เป็นเวลากว่า15 วันการที่สำนักงานอัยการเขต 2 ไม่อาจพิจารณาอุทธรณ์ได้ทันกำหนดเวลาเกิดจากเหตุที่โจทก์ไม่รีบดำเนินการเสียแต่แรกเมื่อได้ฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นมากกว่าข้ออ้างของโจทก์ตามคำร้องจึงถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ
พิพากษายืน

Share