คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ช. ต้องการแบ่งทรัพย์สินแก่บุตรไว้ก่อนถึงแก่กรรม เนื่องจาก ช. เป็นคนต่างด้าวไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ จึงใส่ชื่อจำเลยบุตรคนหนึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน และได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่โจทก์ภรรยาของ ช. กับ ช. ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยมีรายละเอียดระบุให้บุตรคนใดถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวห้องใดและกำหนดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ค่ารังวัดแบ่งแยกและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้คู่สัญญาที่จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ต่อไปเป็นผู้ออกเอง เพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ผลของสัญญาทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์จึงมาฟ้องเรียกที่ดินและตึกแถวจากจำเลยมาเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวไม่ได้
แม้จำเลยมิได้ให้การว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. 11 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตรง แต่ก็ได้ให้การไว้แล้วว่าโจทก์และ ช. ได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินให้ทายาทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นส่วนสัดเรียบร้อยแล้วตามบันทึกข้อตกลงเอกสารท้ายฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนถอนชื่อออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 22040 และ 22041 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 37071 ตำบลบางมด อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยส่งมอบที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าว พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 27/4, 27/9 และห้องไม่มีเลขที่ติดกับห้องเลขที่ 27/9 คืนโจทก์ และห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 22040 และ 22041 และที่ดินโฉนดเลขที่ 37071 เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 37071 ให้จำเลยจดทะเบียนถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดที่ดินเฉพาะในส่วนที่ดินที่เป็นที่ตั้งตึกแถวเลขที่ 27/4 และ 27/9 หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยส่งมอบตึกแถวเลขที่ 27/4 และ 27/9 พร้อมที่ดินที่ตั้งตึกแถวแก่โจทก์ และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นบุตรของโจทก์และนายช่ายหยูผู้มีสัญชาติจีน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน ที่ดิน 2 แปลงได้แบ่งออกเป็นแปลงย่อยรวม 6 แปลง ส่วนที่ดินแปลงหนึ่งได้ปลูกสร้างตึกแถวรวม 9 ห้อง คือห้องเลขที่ 27/3 ถึง 27/9 และห้องไม่มีเลขที่อีก 2 ห้อง จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบางแปลง และครอบครองตึกแถวบางห้อง โดยมีการทำหลักฐานกันไว้ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ. 11 ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 นายช่ายหยูถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายช่ายหยูตามคำสั่งศาล
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกทรัพย์สินพิพาทคืนจากจำเลยได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 11 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ข้อเท็จจริงรับกันว่า นายช่ายหยูต้องการทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์สินที่ตนและโจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันให้บุตรจะได้ไม่มีเรื่องราวกัน เพราะเห็นบุตรไม่สามัคคีกัน แต่ตนไม่อาจทำพินัยกรรมได้เนื่องจากไม่ได้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท จึงแนะนำว่าหากต้องการยกให้บุตรก็ควรตกลงกันระหว่างนายช่ายหยู โจทก์และบุตรทุกคนว่าแต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งอย่างไร แล้วให้นายวินิจ ทนายความทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์และนายช่ายหยูเป็นคู่สัญญาที่ 1 จำเลยและบุตรทุกคนเป็นคู่สัญญาที่ 2 ถึงที่ 7 คู่สัญญาทุกฝ่ายได้ลงชื่อไว้ จะเห็นได้ว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์และนายช่ายหยูตั้งแต่ปี 2516 และ 2520 แต่มาทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ. 11 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 เมื่อนายช่ายหยูรู้ตัวว่าใกล้จะตาย ถ้าโจทก์และนายช่ายหยูประสงค์เพียงให้จำเลยรับรองว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทน เพียงระบุไว้ในบันทึกข้อ 1 ก็เพียงพอแล้ว แต่กลับมีรายละเอียดให้บุตรคนใดถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวห้องใด และกำหนดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ค่ารังวัดแบ่งแยกและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้คู่สัญญาที่จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ต่อไปเป็นผู้ออกเอง การจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ผลของสัญญาทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์จะฟ้องเรียกที่ดินและตึกแถวจากจำเลยมาเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวเพื่อจะได้นำไปจำหน่ายตามที่นางมาลีพยานโจทก์เบิกความหาได้ไม่
แม้จำเลยจะมิได้ให้การว่าบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ. 11 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตรง แต่ก็ได้ให้การไว้แล้วว่าโจทก์และนายช่ายหยูได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์สินให้ทายาทเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นส่วนสัดเรียบร้อยแล้วตามบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกสารท้ายฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share