คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ บัญญัติว่า “การคำนวณกำไรสุทธิฯลฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1. รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย ฯลฯ” ดังนั้น รายจ่ายอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ตรีย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่รายจ่ายนั้น ๆ จะต้องเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่คำนวณกำไรสุทธินั่นเองเมื่อปรากฎว่าต้นทุนการต่อเรือ 4,632,314.33 บาท เท่านั้นที่เป็นรายจ่ายของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2520ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อเรือสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2520 จึงนำค่าใช้จ่ายอื่นดังกล่าวนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2520 เพิ่มขึ้น
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากรมศุลกากรมีความประสงค์ที่จะจ้างเหมาต่อเรือตรวจการทางทะเลจำนวน 4 ลำ โดยผู้รับจ้างจะต้องยื่นแบบให้กรมศุลกากรตรวจสอบก่อนโจทก์จึงว่าจ้างบริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ปรึกษาและเขียนแบบ ในปี พ.ศ. 2519 โจทก์จ่ายเงินค่าปรึกษาและค่าเขียนแบบให้บริษัทนั้น โดยมิได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย รวม186,708.50 บาท กรมศุลกากรพอใจแบบของโจทก์และว่าจ้างให้โจทก์ต่อเรือดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2520 เป็นเงินทั้งสิ้น19,756,000 บาท ปรากฎรายละเอียดตามภาพถ่ายสัญญาจ้างเหมาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 การจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญา กรมศุลกากรผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์คร่อมรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 และ 2521โดยเป็นรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 เป็นเงิน6,964,600 บาท การต่อเรือดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น19,601,656.35 บาท แยกเป็นต้นทุนค่าต่อเรือ 17,544,601.98 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 2,057,054.37 บาท เนื่องจากโจทก์นำรายรับรายจ่ายดังกล่าวเป็นกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2521เพียงรอบระยะเวลาบัญชีเดียว ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องทางจำเลยจึงนำยอดรายรับค่าต่อเรือในปี พ.ศ. 2520 จำนวนเงิน 6,914,600 บาท มาปรับปรุงยอดกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2520 โดยหักต้นทุนค่าต่อเรือที่ยังไม่ได้ลงบัญชีให้ 4,632,314.33 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ คิดหักให้ตามส่วนของรายรับต่อค่าใช้จ่ายอื่น ๆทั้งหมดเป็นเป็น 719,118.40 บาท แล้วคำนวณให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมตลอดจนมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายให้จำเลยที่ 1 ตามฟ้อง คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์ในประการแรกว่า การคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับรายรับค่าต่อเรือ 6,914,600บาท ของรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 จะต้องคำนวณตามสัดส่วนของรายรับต่อรายจ่ายในการต่อเรือทั้งหมดตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิบัญญัติว่า “การคำนวณกำไรสุทธิ ฯลฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย ฯลฯ”ฉะนั้นรายจ่ายอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ตรี ย่อมถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่เป็นที่เห็นได้ว่า รายจ่ายนั้น ๆต้องเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่คำนวณกำไรสุทธินั่นเองเพราะมิฉะนั้นกำไรสุทธิตามที่ มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้จะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในคดีนี้เฉพาะต้นทุนการต่อเรือ4,632,314.33 บาท เท่านั้น ที่เป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2520 ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่คำนวณโดยวิธีการของจำเลยก็ดีหรือโดยวิธีการที่โจทก์อุทธรณ์ให้คำนวณก็ดี ทั้งโจทก์และจำเลยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อเรือสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 ฉะนั้น จึงนำค่าใช้จ่ายนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ดังนั้น การคำนวณปรับปรุงยอดกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 ที่จำเลยหักค่าใช้จ่ายในการต่อเรือสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นให้ 719,118.40 บาทตามวิธีคำนวณของจำเลยอันเป็นเหตุให้กำไรสุทธิลดลง จึงนับว่าเป็นผลดีแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานนำสืบให้ได้ความว่าความจริงโจทก์มีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น คดีก็ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังที่โจทก์ขอ
ส่วนปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า บริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัดแห่งประเทศญี่ปุ่น มีสาขาในประเทศไทย การจ่ายค่าเขียนแบบและค่าปรึกษาให้บริษัทนั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่มาตรา 70 บัญญัติไว้นั้น ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าบริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มีสาขาอยู่ที่ห้อง905 (ชั้น 9) ตึกเกษมกิจ เลขที่ 120 ถนนสีลม กรุงเทพมหานครปรากฎตามจดหมายเอกสารหมาย จ.4 ที่สาขาของบริษัทนั้นมีมาถึงโจทก์
จำเลยทั้งห้าสืบว่า เจ้าพนักงานประเมินกองภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หมายเรียกโจทก์มาทำการตรวจสอบไต่สวน ปรากฎว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2519 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าเขียนแบบและค่าปรึกษาอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) จำนวน186,708.50 บาท ให้แก่บริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย รายละเอียดปรากฎตามใบรับเงินเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 102, 103 ประกอบด้วย 132 โดยมิได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายนำส่งจำเลยตามมาตรา 70(2)
ปัญหาว่าบริษัทฮิสสันเทรดดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มีสาขาในประเทศไทยหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นตรวจสอบของเจ้าพนักงาน ผู้แทนโจทก์มิได้อ้างว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งจำเลยที่ 1 เพราะบริษัทอิสสันเทรดดิ้งจำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น มีสาขาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประกอบกับคดีได้ความจากนางสมพงษ์ อยู่หุ่น พยานโจทก์อีกว่า ในชั้นตรวจสอบของเจ้าพนักงานและชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์มิได้นำหลักฐานเกี่ยวกับบริษัทอิสสันเทรดดิ้ง จำกัดประเทศญี่ปุ่น มีสาขาในประเทศไทยไปแสดงต่อจำเลยแต่อย่างใดดังนี้ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าบริษัทนั้นมีสาขาในประเทศไทย จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ โจทก์มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบ”
พิพากษายืน

Share