คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8889/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 29 บัญญัติให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาตินั้น ก็เพื่อให้ลูกจ้างประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ซี่งวันหยุดดังกล่าวล้วนแต่ให้หยุดในระหว่างการทำงานทั้งสิ้น เมื่อ ฉ. ลาป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ตลอดมาจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่มีการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงไม่มีวันหยุดตามประเพณีดังกล่าว นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีให้แก่ ฉ. และไม่ได้หักค่าจ้างของ ฉ. ส่งสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เมื่อ ฉ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 73 โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของ ฉ. จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายฉลวย ด้วงปลี เป็นลูกจ้างของบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ตั้งแต่ปี 2538 และได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2545 นายฉลวยประสบอุบัติเหตุ และได้รับการรักษาพยาบาลมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมแต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมแจ้งว่า นายฉลวยผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำศพ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย 133/2546 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ผู้ตายเป็นลูกจ้างของบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จนกระทั่งถึงแก่ความตาย การไม่ส่งเงินสมทบไม่ใช่ความผิดของผู้ตาย เพราะผู้ตายเข้าใจว่านายจ้างส่งเงินสมทบแล้ว ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 133/2546 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2546 (ที่ถูกน่าจะเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546)
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ 133/2546 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่านายฉลวย ด้วงปลี เป็นลูกจ้างของบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด มาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2538 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2545 นายฉลวยประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์บรรทุกพ่วงแล่นตัดหน้ารถจักรยานยนต์คันที่นายฉลวยขับจึงเกิดการเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้นายฉลวยได้รับบาดเจ็บขาข้างขวาหักสองท่อน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจันทรุเบกษา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยรับนายฉลวยไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ นายฉลวยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์เป็นภริยาของนายฉลวยได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตายต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมปรากฏตามแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย เอกสารหมาย จ.1 หนังสือรับรองนายจ้าง เอกสารหมาย จ.2 บันทึกถ้อยคำ เอกสารหมาย จ.3 นางสาวดลชนก แวววีรคุปต์ นักวิชาการประกันสังคม 5 ทำบันทึกเสนอความเห็นต่อประกันสังคมจังหวัดนครปฐมว่า นายฉลวยซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไม่ครบ 1 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย จึงเห็นควรขออนุมัติปฏิเสธคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตามของโจทก์ ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.4 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำศพ ปรากฏตามคำสั่งประโยชน์ทดแทนและใบสั่งจ่าย เอกสารหมาย จ.6 และแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอการหมาย จ.7 และ จ.8 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อมาประกันสังคมจังหวัดนครปฐมมีหนังสือลงวันที่ 31 มีนาคม 2546 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 133/2546 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ว่าตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ถ้าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ให้จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย จากข้อเท็จจริงในกรณีนี้ นายฉลวย ด้วงปลี มีการนำส่งเงินสมทบเดือนสุดท้ายคือเดือนมกราคม 2545 และถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ทำให้ไม่มีการนำส่งเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิในกรณีตาย นายฉลวยไม่มีการจ่ายเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย คณะกรรมการอุทธรณ์จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ ปรากฏตามสำเนาคำวินิจฉัยที่ 133/2546 เอกสารหมาย จ.9 และแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.10 บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนในวันลาป่วยเป็นเวลา 30 วันตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2545 ให้แก่นายฉลวยซึ่งเป็นค่าจ้างเป็นเงินเดือนครั้งสุดท้ายและมีการส่งเงินสมทบเดือนสุดท้ายคือเดือนมกราคม 2545 ปรากฏตามรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนรายนายฉลวย และบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด มีหนังสือแจ้งให้ประกันสังคมจังหวัดนครปฐมทราบว่า บริษัทไม่ได้แจ้งการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของนายฉลวยไปยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม เพราะนายฉลวยได้นำใบรับรองแพทย์ไปให้แก่บริษัทเป็นระยะๆ ปรากฏตามหนังสือของบริษัท ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 เอกสารหมาย จ.11 นายฉลวยมีสภาพการเป็นลูกจ้างของบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จนถึงวันที่ถึงแก่ความตาย คู่มีอพนักงานเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย จ.12 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมได้จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่นายฉลวยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2545 ปรากฏตามสำเนาใบสำคัญรับเงิน เอกสารหมาย จ.13 นายฉลวยเขียนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2545 ว่าจะกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย จ.14 บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ไม่ได้ส่งเงินสมทบทั้งส่วนของนายฉลวยและส่วนของบริษัทเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงงวดเดือนกันยายน 2545 พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมไม่ได้มีคำเตือนเป็นหนังสือให้บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด นำเงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่มในส่วนของลูกจ้างรายนายฉลวย ตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไปชำระให้แก่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ประเมินเงินสมทบและแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด นำส่งเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างนายฉลวยจำเลยไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสมทบและเงินเพิ่มในส่วนของลูกจ้างรายนายฉลวยตามนัยมาตรา 50 บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด กำหนดวันหยุดและวันลาตามคู่มือพนักงานเรื่องระเบียบ ข้อบังคับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.12 โดยกำหนดในหมวดที่ 3 ข้อ 5 ให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ข้อ 6 กำหนดวันหยุดตามประเพณีนิยมว่า “บริษัทฯ จะประกาศวันหยุดตามประเพณีนิยมให้ทราบล่วงหน้าแต่ละปีไม่น้อยกว่า 13 วัน ทั้งนี้ จะรวมวันที่ 1 พฤษภาคม อันเป็นวันแรงงานแห่งชาติไว้ด้วย โดยได้รับค่าจ้างในวันทำงาน หากวันหยุดดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ (วันอาทิตย์) หรือวันหยุดที่กำหนดขึ้นตามข้อ 2.2 บริษัทฯ จะเลื่อนวันหยุดตามประเพณีนิยมนั้น ไปหยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป” ซึ่งเป็นการกำหนดวันหยุดตามประเพณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29 วรรคสองและวรรคสี่ โดยบริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด กำหนดวันหยุดตามประเพณีในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 ไว้ คือ วันที่ 11 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 วันตรุษจีน วันที่ 13 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2545 วันสงกรานต์และชดเชยวันเข้าพรรษา (ที่ถูกชดเชยวันสงกรานต์) วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 วันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม 2545 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ข้อ 7. กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าบริษัทมีนโยบายที่จะให้พนักงานประจำทุกคนได้หยุดพักผ่อนประจำปีหลังจากปฏิบัติงานมาครบ 1 ปีบริบูรณ์ พนักงานมีสิทธิขอหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงาน ทั้งนี้ บริษัทจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดให้พนักงานทราบล่วงหน้าหรือกำหนดตามที่บริษัทและพนักงานตกลงกัน และข้อ 8. หลักเกณฑ์การหยุด กำหนดว่า “8.1 การหยุดตามข้อ 5. และข้อ 6. พนักงานไม่ต้องทำใบขออนุญาตลา ยกเว้นเป็นวันที่ตรงกับวันทำงานที่บริษัทฯ จัดตามข้อ 2.2” และหมวดที่ 6 การลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ 12. การลาป่วย กำหนดว่า “12.1 พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยจะได้รับค่าจ้างปีละสามสิบวันทำงานเท่านั้น” แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีคือวันที่ 11 และ 12 กุมภาพันธ์ 2545 วันตรุษจีน วันที่ 13 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2545 วันสงกรานต์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 วันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม 2545 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้แก่นายฉลวย และมีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างดังกล่าวนำส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่ต้องจ่ายค่าจ้างดังกล่าว แม้บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีดังกล่าวให้แก่นายฉลวยตามกำหนด บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ก็ยังมีหน้าที่ส่งเงินสมทบโดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ส่งเงินสมทบงวดเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน พฤษภาคม และสิงหาคม 2545 แล้ว เมื่อนายฉลวยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ต้องถือว่าภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย นายฉลวยได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของนายฉลวยจึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายเป็นเงินค่าทำศพ 30,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 133/2546 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และกรณีมีเหตุที่จะพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าช่วงระยะเวลาที่นายฉลวยลาป่วยเพื่อรักษาพยาบาล นายฉลวยไม่สามารถทำงานได้แม้จะตรงกับวันหยุดตามประเพณี เมื่อนายฉลวยได้รับค่าจ้างในระหว่างลาป่วยแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีอีก ซึ่งนายฉลวยทราบดี นายฉลวยจึงขอใช้สิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากจำเลย ซึ่งจำเลยจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้นายฉลวยรับไปตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2545 รวมเป็นเงิน 18,297 บาทแล้ว บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีวันที่ 11 และ 12 กุมภาพันธ์ 2545 วันที่ 13 ถึง 17 เมษายน 2545 วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 และวันที่ 12 สิงหาคม 2545 ให้แก่นายฉลวย จึงไม่มีค่าจ้างที่บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จะต้องหักส่งเป็นเงินสมทบ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 29 บัญญัติให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาตินั้น ก็เพื่อให้ลูกจ้างประกอบกิจกรรมสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ซึ่งวันหยุดดังกล่าวล้วนแต่ให้หยุดในระหว่างการทำงานทั้งสิ้น เมื่อนายฉลวยลาป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 ตลอดมาจนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่ได้มีการทำงานให้แก่บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด จึงไม่มีวันหยุดตามประเพณีดังกล่าว บริษัทวัฒนาโชค กรุ๊ป จำกัด ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีให้แก่นายฉลวยและไม่ได้หักค่าจ้างของนายฉลวยส่งสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เมื่อนายฉลวยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยไม่ได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของนายฉลวยจึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจากจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ 133/2546 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share