แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หน้าที่พิสูจน์ว่าสินค้าผ้าของกลางที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ตกอยู่แก่จำเลยผู้ซื้อสินค้าผ้าของกลางจะต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าได้มีการเสียภาษีถูกต้องแล้วตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำผ้าจำนวน 924 เมตร ที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง รวมราคาผ้าและค่าภาษีอากรขาเข้าทั้งสิ้นเป็นเงิน 11,218.68 บาท จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร โดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล หรือมิฉะนั้นตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยซื้อ รับไว้ซึ่งสินค้าผ้าของกลางจำนวน 924 เมตร รวมราคาสินค้าและค่าภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน11,218.68 บาท จากผู้ลักลอบนำผ้าดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นผ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2499 (ที่ถูกต้องพ.ศ. 2489) มาตรา 6, 9 ปรับ 40,704 บาท ริบของกลาง กับให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้จำเลยจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละ 30 ของค่าปรับ และให้จ่ายรางวัลร้อยละ 15 ของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยซื้อผ้าของกลางในตลาดสุขาภิบาลที่วางขายโดยเปิดเผย ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นสินค้าผ้าที่หลบหนีภาษีศุลกากร และไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายเซิ่น เหงียน อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า นางพันมหา หนูเผือก อาชีพค้าขายสินค้าที่นำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เบิกความยืนยันว่าสินค้าผ้าของกลาง ผลิตขึ้นในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แล้วนำมาจำหน่ายในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกทอดหนึ่งนอกจากนี้ปรากฏว่าจังหวัดนครพนมได้กวดขันเรื่องการลักลอบขนสินค้าหนีภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าผ้าที่ผลิตในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแล้วลักลอบเข้ามาในประเทศไทยจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีรายละเอียดตามหนังสือราชการของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เอกสารหมาย จ.7 เนื่องจากกระทบกระเทือนอุตสาหกรรมครอบครัวของประชาชนในจังหวัดดังที่พันตำรวจตรีอำนวยนิยมค้า เบิกความว่า ผ้าดังกล่าวมีคุณภาพดีกว่าและถูกกว่าผ้าพื้นเมือง จำเลยเองซึ่งมีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าก็นำสืบรับว่าสินค้าผ้าของกลางนำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเหตุที่ซื้อก็เพราะมีคุณภาพดีและราคาถูก ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคดีจึงฟังได้ว่าผ้าของกลางเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งโดยปกติการนำเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องเสียค่าภาษีหรือได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจำเลยฎีกาโต้แย้งต่อไปว่า จำเลยซื้อสินค้าผ้าที่วางขายโดยเปิดเผยในตลาด ต้องถือว่าสินค้านั้นเป็นผ้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยไม่ควรมีความผิดนั้นในข้อนี้ เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ที่แก้ไขแล้วจะต้องเป็นการซื้อของที่ตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้แล้วว่าเป็นสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร คงมีข้อโต้เถียงกันเพียงว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าสินค้าผ้าของกลางไม่ได้เสียค่าภาษี ซึ่งหน้าที่พิสูจน์ในกรณีนี้ตกอยู่แก่จำเลยที่จะต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าผ้าของกลางได้เสียภาษีโดยถูกต้องแล้ว ดังที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 100 บัญญัติไว้ หาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบไม่ เมื่อจำเลยไม่นำสืบ เพียงแต่อ้างว่าเป็นสินค้าที่จำหน่ายโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นความเข้าใจของจำเลยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับกรณีนี้ และไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดคดีต้องฟังว่า จำเลยซื้อผ้าของกลางโดยรู้ว่ายังไม่ได้เสียค่าภาษี ทั้งนี้ ไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.