คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับว่าจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งระบุว่าจำเลยทราบประเพณีการค้าของธนาคารและระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารตามที่ได้รับไปแล้ว และจำเลยยินยอมผูกพันตามประเพณีและระเบียบการที่ได้กำหนดไว้ เช่นนี้ การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้รับระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันจึงรับฟังไม่ได้ ข้อตกลงที่จำเลยยอมให้โจทก์นำเงินฝากประจำของจำเลยไปชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยในการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังนั้น แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน เพื่อความสะดวกจึงให้เรียกโจทก์สำนวนแรก และจำเลยที่ 1 สำนวนหลัง ว่าโจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์ที่ 1 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสำนวนแรก และโจทก์ที่ 1 ที่ 2ให้การแก้คดีสำนวนหลังใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 1 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2ฟ้องคดีแทน ธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาสัตหีบเป็นสาขาของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2520 จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ที่ 1 สาขาสัตหีบ บัญชีเลขที่188 ยอมปฏิบัติตามระเบียบการฝากเงินตามประเพณีและวิธีปฏิบัติงานของธนาคารพาณิชย์ ในการเดินสะพัดบัญชีต่อกัน หากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย โจทก์จ่ายให้ไป จำเลยยอมรับผิดชดใช้พร้อมดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามอัตราขั้นสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ และต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2520 จำเลยได้ตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีดังกล่าวโดยยอมให้ดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีและถอนเงินออกจากบัญชีต่อมาหลายครั้ง และได้นำเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 348 มาเป็นประกันการชำระหนี้และตกลงให้โจทก์ที่ 1 โอนเงินฝากบัญชีเลขที่ 348 จำนวน92,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยชำระหนี้บัญชีเลขที่ 188 เมื่อหักทอนบัญชีกันวันที่ 17 มกราคม 2523 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 อยู่53,978.22 บาท ยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้15,000 บาท คงค้างชำระอยู่ 73,039.86 บาท แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้อีกเลย คิดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2527 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 อยู่119,131.90 บาทโจทก์ที่ 1 ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระคิดถึงวันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 122,666.69 บาท คิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 126,114.80 บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยทบต้นถึงวันครบกำหนดทวงถามและดอกเบี้ยไม่ทบต้นถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 126,114.80 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 122,666.69 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การแก้คดีสำนวนแรก ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องสำนวนหลังใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายว่า กรรมการโจทก์ที่ 1 มีอำนาจทำอะไรแทนโจทก์ที่ 1 ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือปลอม จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและตกลงกู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นการกู้เงินเกิน 50 บาท ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือจึงฟ้องบังคับไม่ได้จำเลยไม่เคยตกลงเรื่องดอกเบี้ยกับโจทก์ที่ 1เป็นลายลักษณ์อักษร โจทก์ที่ 1 คิดดอกเบี้ยเองจึงไม่ชอบ โจทก์ที่ 1มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ไม่เกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยไม่เคยนำสมุดเงินฝากเลขที่ 348 ไปประกันการชำระหนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2นำเงินในบัญชีดังกล่าวไปชำระหนี้ในบัญชีเลขที่ 188 โดยจำเลยมิได้ยินยอม การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นการผิดสัญญาและทำละเมิดต่อจำเลย ทำให้จำเลยเสียหาย ไม่ได้ดอกเบี้ยจากเงินฝาก92,300 บาท จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,658 บาท จำเลยต้องถูกริบเงินมัดจำ 150,000 บาท เพราะเบิกเงินไปชำระค่าซื้อที่ดินไม่ได้ ขอให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ 342,958 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยสำนวนแรกชดใช้เงินให้โจทก์ 45,948.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน31,643.11 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,500 บาทคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลังให้โจทก์สำนวนหลังใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
นางพีรรัชต์ ชัยกุล อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
นางพีรรัชต์ ชัยกุล ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 ธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาสัตหีบเป็นสาขาของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีแทน ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ที่ 1 สาขาสัตหีบ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2520 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหมายเลขบัญชี 188 กับโจทก์ที่ 1ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยยอมปฏิบัติตามระเบียบการของธนาคาร โจทก์ที่ 1 ได้มอบระเบียบการ เอกสารหมาย จ.4ให้จำเลยแล้ว จำเลยได้นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีหลายครั้ง ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2520 จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีคิดทบต้นเป็นรายเดือนแล้วได้นำเงินเข้าและสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีอีกหลายครั้งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 จำนวน 197 ฉบับ ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม2521 จำเลยได้นำเงินฝากประจำจำนวน 92,300 บาทมาเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2523 จำเลยได้ให้โจทก์ที่ 1 โอนเงินฝากประจำดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 107,276.46 บาท ไปชำระหนี้ในบัญชีเลขที่ 188 เมื่อหักบัญชีกันแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 อยู่53,978.22 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 การคิดดอกเบี้ยจำเลยยอมให้คิดในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด วันที่ 12ตุลาคม 2524 จำเลยนำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้จำนวน 15,000 บาท หักบัญชีแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 73,039.86 บาท ต่อจากนั้นมาจำเลยไม่ชำระหนี้ให้อีกเลย คิดถึงวันที่ 31 มีนาคม 2527 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 อยู่ 119,131.90 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ที่ 1ทวงถามให้ชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย
จำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2520 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ที่ 1 สาขาสัตหีบ ตามบัญชีเลขที่ 188โจทก์ที่ 1 ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีได้เป็นครั้งคราวแต่มิได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ ไม่ได้ตกลงเรื่องดอกเบี้ย ทราบว่าโจทก์ที่ 1 คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์ที่ 1 ไม่ได้มอบระเบียบการ เอกสารหมาย จ.4 ให้จำเลย ยอดหนี้ที่โจทก์ที่ 1เรียกร้องจึงไม่ถูกต้อง เพราะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากประจำตามบัญชีเลขที่ 248 เพื่อสะสมเงินซื้อที่ดิน ไม่ได้ตกลงให้นำเงินในบัญชีเลขที่ 348 ไปหักชำระหนี้บัญชีเลขที่ 188 เงินในบัญชีเลขที่348 นั้น รวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 192,958 บาท เมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2527 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1719แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 30 ไร่ราคา 300,000 บาท วางมัดจำไว้ 150,000 บาท ส่วนที่เหลือ 150,000 บาทจะชำระในวันที่ 3 กรกฎาคม 2527 ซึ่งเป็นวันโอนเมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2527 จำเลยไปขอถอนเงินจากบัญชีเลขที่ 348 โจทก์ที่ 2ไม่ยอมให้ถอนแจ้งว่าได้หักโอนชำระหนี้บัญชีเลขที่ 188 หมดแล้ว จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินจึงถูกริบมัดจำ ทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 342,958 บาท
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับแต่เอกสารหมาย จ.3 จากโจทก์เท่านั้น ไม่ได้รับเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยได้รับเอกสารหมาย จ.4 จึงจะถือว่าจำเลยยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารโจทก์และยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไม่ได้ เพราะไม่ได้มีข้อตกลงกันนั้น แตกต่างกับข้อต่อสู้ของจำเลยในเรื่องดอกเบี้ยตามคำให้การของจำเลยอย่างเห็นได้ชัด เพราะตามคำให้การของจำเลยนั้นจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยตกลงเรื่องดอกเบี้ยกับโจทก์ที่ 1 เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ในชั้นฎีกาจำเลยกลับอ้างว่าจำเลยไม่ได้รับระเบียบการ เอกสารหมาย จ.4 จึงไม่ต้องผูกพันเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 1 ตามฟ้องนอกจากนี้เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.3ซึ่งระบุชัดว่าจำเลยทราบประเพณีการค้าของธนาคารและระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารตามที่ได้รับไปแล้ว และจำเลยยินยอมผูกพันตามประเพณีและระเบียบการที่ได้กำหนดไว้ เช่นนี้การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้ระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 จึงรับฟังไม่ได้เพราะขัดกับเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยลงชื่อเป็นผู้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอย่างชัดแจ้ง ทั้งเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุว่ากรณีเบิกเงินเกินบัญชีนั้น ผู้ฝากต้องรับผิดชดใช้เงินส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมดอกเบี้ยทบต้นรายเดือนตามประเพณีการค้าของธนาคารในอัตราขั้นสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดฎีกาจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยไปชำระหนี้เพราะไม่มีข้อตกลงกันเป็นหนังสือนั้นก็แตกต่างกับคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยนำสมุดเงินฝากประจำไปประกันการชำระหนี้และโจทก์นำเงินในบัญชีดังกล่าวไปชำระหนี้โดยจำเลยไม่ยินยอม อย่างไรก็ตามฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะการนำเงินฝากประจำไปชำระหนี้นั้นไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงกันเป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกาแต่ประการใดนอกจากนี้ยังน่าเชื่อตามคำเบิกความของนางอุษณีย์ ภู่ภิรมย์ พยานโจทก์ว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมาย ป.จ.1 ให้มาตกลงกับโจทก์เรื่องหนี้สิน จำเลยก็มาติดต่อนำเงินในบัญชีเงินฝากประจำไปหักกลบลบหนี้โจทก์จึงมีสิทธินำเงินฝากประจำของจำเลยไปชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เพราะต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เห็นว่าเอกสารหมาย จ.3 เป็นเพียงหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันจึงเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยในการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ทำเป็นหนังสือจึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้นั้น เห็นว่า สัญญาที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นคือสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share