คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแรก อ.อ้างว่าเป็นผู้จัดการมรดกของฉ. ได้ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่เช่าซึ่งเป็นที่ดินมรดกศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่เชื่อว่าพินัยกรรมที่ อ.อ้างเป็นพินัยกรรมที่ฉ.ทำขึ้นอ. จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขณะคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ฉ. มาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทอีก ที่ อ. ฟ้องคดีแรกนั้นถือได้ว่ากระทำไปในฐานะตัวแทนของทายาทของ ฉ. หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นตัวแทนของโจทก์นั่นเอง เพราะฉะนั้นฟ้องสองคดีนี้จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ไม่เป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่ต้องห้ามไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายฉ่ำเจ้ามรดกเป็นทายาทลำดับที่ 1 เป็นบุตรพี่สาวนายฉ่ำ จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ได้เช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่มรดกมาตั้งแต่นายฉ่ำยังมีชีวิตอยู่ ต่อมาจำเลยจะถือสิทธิเป็นเจ้าของจึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหาย

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์จะเป็นบุตรบุญธรรมของนายฉ่ำหรือไม่จำเลยไม่รับรอง โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปีขาดอายุความมรดก จำเลยครอบครองที่พิพาทมาเกิน 10 ปีได้ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทในฐานะผู้เช่าและฟ้องแย้งของจำเลยซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 114/2514 ของศาลชั้นต้น(ซึ่งจำเลยฟ้องนายอรุณผู้จัดการมรดกขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท)

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 125/2520 ที่นายอรุณในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำฟ้องจำเลยที่ 1 และฟ้องแย้งของจำเลยซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 114/2514 ของศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องวินิจฉัย

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายฉ่ำ มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทชั้นบุตรของนายฉ่ำ จำเลยที่ 1 เป็นบุตรพี่สาวของนายฉ่ำ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ที่พิพาทเดิมเป็นของนายฉ่ำหลังจากนายฉ่ำถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งครอบครองที่ดินอยู่ได้ฟ้องนายอรุณในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายฉ่ำตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 114/2514 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์และนางทรวงภริยานายฉ่ำก็ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วม คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองในฐานะผู้เช่าไม่ได้กรรมสิทธิ์นายอรุณในฐานะผู้จัดการมรดกของนายฉ่ำจึงฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 125/2520 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของนายอรุณเพราะไม่เชื่อว่าพินัยกรรมที่นายอรุณอ้างเป็นพินัยกรรมที่นายฉ่ำทำขึ้น นายอรุณจึงไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ก็มาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินแปลงเดียวกันเป็นคดีนี้ คดีแดงที่ 125/2520 คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่านายอรุณไม่ใช่ผู้จัดการมรดกเพราะพินัยกรรมปลอม การที่นายอรุณเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 125/2520 ของศาลชั้นต้น ถือได้ว่าได้กระทำไปในฐานะที่เป็นตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายฉ่ำ หรืออีกนัยหนึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโจทก์นั่นเอง ฉะนั้น คดีที่นายอรุณฟ้องจำเลยที่ 1 กับที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นฟ้องเรื่องเดียวกัน เพราะเป็นกรณีที่ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายฉ่ำแปลงเดียวกัน และมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่คดีที่นายอรุณฟ้องยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 ด้วย ก็ไม่เป็นเหตุทำให้ฟ้องของโจทก์กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เพราะการที่จำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาท ฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าอยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้องโจทก์

พิพากษายืน

Share