แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ ถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูนอันเป็นทรัพย์สินที่เหลือจากการเวนคืนเป็นทรัพย์ใช้สอยประจำกับตัวบ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน เมื่ออาคารบ้านพักถูกเวนคืนทำให้หมดโอกาสที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่เหลืออยู่เป็นประจำควบคู่ไปกับตัวบ้านก็ต้องถือว่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือนั้นลดน้อยถอยราคาลงจนไม่เป็นประโยชน์ดังแต่ก่อนหรือสิ้นสภาพลงและไม่มีราคา จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะส่วนที่เหลือนั้นด้วย ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง ระบุว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับศาลจึงชอบที่จะให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินที่เพิ่มให้แก่โจทก์นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ค่าขนย้ายวัสดุ เครื่องใช้ ได้แก่ บ้านพักโรงรถ อาคาร คนรับใช้ ศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ รั้วก่ออิฐฉาบปูนและถนนคอนกรีตรวมเป็นเงิน 2,331,025 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524มีผลใช้บังคับจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การว่าค่าทดแทนรื้อถอน ขนย้ายอาคารพิพาท จำเลยทั้งสองได้พิจารณากำหนดอย่างละเอียดรอบคอบเป็นจำนวน 590,650 บาท ซึ่งเป็นธรรมแล้วเพราะเป็นราคาที่คำนวณในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกพ.ศ. 2526 ยังไม่ได้ใช้บังคับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลดังกล่าวใช้บังคับขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน790,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 200,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าทดแทนที่จำเลยคิดให้โจทก์ (จำนวน 590,650 บาท)ชอบแล้วแต่เห็นควรกำหนดค่าทดแทนสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุปกรณ์ของบ้านและอยู่นอกแนวเขตที่ดินที่เวนคืนคือศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูน ให้โจทก์อีก 200,000 บาทโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้ได้รับเพิ่มขึ้นนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ (วันที่ 20 ธันวาคม 2524) พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารบ้านพักและสิ่งก่อสร้างสำหรับใช้สอยประกอบตัวบ้าน คือ ศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินมีโฉนดที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่น ต่อมาเมื่อรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่20 ธันวาคม 2524 เป็นต้นไป ปรากฏว่าที่ดินบริเวณที่ตั้งอาคารบ้านพักของโจทก์อยู่ในแนวทางหลวงที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ส่วนสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งได้แก่ศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ ถนนคอนกรีตและรั้วก่ออิฐฉาบปูนซึ่งอยู่ในบริเวณอาคารบ้านพักนั้น อยู่นอกแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนจำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนการรื้อถอนขนย้ายอาคารบ้านพักพร้อมด้วยไม้ยืนต้นให้โจทก์เป็นเงิน 590,650 บาท คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิได้ค่าทดแทนสำหรับศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ ถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูนอันเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ และมีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาข้อแรกจำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะกำหนดค่าทดแทนสำหรับทรัพย์สินที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งได้แก่ ศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ ถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูนให้แก่โจทก์ เพราะทรัพย์สินดังกล่าวอยู่นอกแนวเขตที่ดินที่เวนคืนและมีลักษณะโครงสร้างและการใช้งานที่แยกต่างหากจากตัวบ้านพัก แม้ตัวบ้านพักถูกเวนคืน ก็ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ดังกล่าวนั้นสิ้นหรือเสื่อมสภาพ นอกจากนี้ทรัพย์สินดังกล่าวได้ก่อสร้างและใช้ประโยชน์มานานแล้ว แม้จะถือว่ามีราคาในขณะที่ถูกเวนคืนก็จะมีราคาที่กำหนดเป็นค่าทดแทนไม่ได้เลยตามฎีกาดังกล่าวของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างเหตุที่จะไม่กำหนดค่าทดแทนสำหรับทรัพย์สินที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่โจทก์โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย ในเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าศาลาพักร้อน โรงปั๊มน้ำ ถนนคอนกรีต และรั้วก่ออิฐฉาบปูนอันเป็นทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารบ้านพักที่ถูกเวนคืนอาศัยใช้สอยเป็นประจำอยู่กับตัวบ้านก็ต้องถือเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพักนั้น เมื่ออาคารบ้านพักถูกเวนคืนไป ทำให้โจทก์หมดโอกาสที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่เหลืออยู่เป็นประจำควบคู่ไปกับตัวบ้านอีกต่อไป ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินส่วนที่เหลืออยู่นั้นลดน้อยถอยราคาลงจนไม่มีประโยชน์แก่โจทก์ดังแต่ก่อนหรือถือเท่ากับสิ้นสภาพลงและไม่มีราคาอีกต่อไป กรณีเช่นนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 14 วรรคสองอันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดกรณีพิพาทนี้บัญญัติว่า “ถ้าต้องเวนคืนทรัพย์สินแต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นลดน้อยถอยราคาลง ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันลดน้อยถอยราคาลงนั้นด้วย” ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าทดแทนสำหรับทรัพย์สินที่เหลือดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสองจะปฏิเสธไม่ยอมกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ ส่วนจำนวนเงินค่าทดแทนนั้น จำเลยมิได้โต้เถียงว่าควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นเงิน 200,000 บาทนั้น นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว สำหรับปัญหาข้อต่อไปนั้นจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยไม่จำต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 200,000 บาท ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเวนคืนใช้บังคับ ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพราะเมื่อกฎหมายเวนคืนใช้บังคับแล้ว โจทก์ยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ในตัวอาคารพิพาทที่ถูกเวนคืนได้ตามปกติเรื่อยมาโดยไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด ตามฎีกาดังกล่าวของจำเลยเป็นการปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับตัวบทกฎหมาย กรณีเช่นนี้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 67 วรรคสองตอนท้ายซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดกรณีพิพาทนี้ ระบุว่า “ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้น ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ” เพราะฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน 200,000 บาท ที่เพื่อให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน