คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2567/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2519 โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษากับจำเลยที่ 1 ภายในสิบปี จึงขาดอายุความบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ได้บังคับคดีมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2522 ได้เงินมาชำระหนี้บางส่วนอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2522 โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลายวันที่ 20 มีนาคม 2530 เฉพาะคดีจำเลยที่ 1ขาดอายุความจึงไม่มีเหตุอันควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ส่วนคดีของจำเลยที่ 2 ยังไม่ล่วงเลยกำหนดเวลาสิบปีและหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีกำหนดจำนวนแน่นอนเกินกว่า 50,000 บาท จึงมีเหตุอันควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ศาลชั้นได้พิพากษาตามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 789,148.44 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ โจทก์ได้บังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้เงินชำระหนี้ 631,700 บาท จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้โจทก์อีกเป็นจำนวน 579,698.52 บาท หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองได้เลย โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึง 2ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อคิดถึงวันที่ 20 มีนาคม 2530จำเลยทั้งสองคงเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 1,223,878.57 บาท ซึ่งเป็นหนี้จำนวนแน่นอนเกินกว่า 50,000 บาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นมูลหนี้ที่โจทก์ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายเพราะเป็นหนี้ที่ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1นั้น หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2519แล้ว โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นกับจำเลยที่ 1ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น โจทก์นำคดีล้มละลายมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม2530 เกินกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความหรือขาดอายุความบังคับคดี คดีจึงมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีแล้ว ต่อมาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2519 โจทก์ได้ร้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษา จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการชั้นบังคับคดีโดยยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2522 ได้เงินจากการขายทอดตลาดมาหักหนี้ตามคำพิพากษา การดำเนินการชั้นบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2519ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2522 เป็นการดำเนินการภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ทั้งเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องและเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง ย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2522 ตามความในมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายนี้เมื่อวันที่20 มีนาคม 2530 ยังไม่ล่วงเลยกำหนดเวลาสิบปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความหรือขาดอายุการบังคับคดี เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน1,223,878.57 บาท และไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ อันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีจึงมีเหตุสมควรพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณื ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 ให้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2.

Share