คำสั่งคำร้องที่ 2344-2350/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง จึงมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นปัญหาว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีคลาดเคลื่อนต่อพยานหลักฐาน โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ศาลแรงงานกลางได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว (อันดับ 57)
คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกับคดีอื่นอีกสิบสองสำนวนซึ่งโจทก์ได้ถอนฟ้องระหว่างพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนนี้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7ที่ 16 และที่ 18 ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 30,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 12,333 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 9,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 30,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 12,333 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 9,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 9,000 บาทและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,700 บาท ให้โจทก์ที่ 5จ่ายค่าชดเชยจำนวน 15,900 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,536 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 4,509 บาท ให้โจทก์ที่ 6จ่ายค่าชดเชยจำนวน 8,700 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,572 บาท ให้โจทก์ที่ 7 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 8,100 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 3,330 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 2,430 บาท ให้โจทก์ที่ 16 และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 11,100 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,563 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 3,230 บาท ให้โจทก์ที่ 18 ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 48)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 55)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามคำเบิกความของนายวสันต์จุลกะนาคและนายธาดาพูลสวัสดิ์พยานโจทก์ว่า จำเลยสั่งปิดโรงงานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2533โดยมีเจตนามิให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 16 และที่ 18 กับพนักงานอื่นทำงานภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวตั้งแต่วันนั้นแล้ว จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามคำเบิกความของนายสมชาติ ปิ่นเพชร พยานจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมิได้แสดงออกให้เห็นว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางฟังว่ามีการเลิกจ้างแล้ว จึงเป็นการแปลความหมายคำเบิกความของนายสมชาติ ปิ่นเพชร พยานจำเลยผิดไปจากความจริงเห็นว่า ศาลแรงงานกลางไม่เชื่อคำเบิกความของนายสมชาติ ปิ่นเพชรพยานจำเลย จึงไม่มีการตีความหมายแห่งคำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีการับฟังคำเบิกความของนายสมชาติ ปิ่นเพชร พยานจำเลย จึงเป็นอุทธรณ์ดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการลาออกของโจทก์ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เป็นการลาออกหลังจากวันที่นายจ้างเลิกจ้างแล้ว เป็นการฟังข้อเท็จจริงขัดกับพยานเอกสารหมายล.5, ล.6 เพราะจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7นั้น ก็เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสามดังกล่าวก่อนวันที่โจทก์ทั้งสามจะเขียนใบลาตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 แล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามเช่นเดียวกัน
ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้วให้ยกคำร้องของจำเลย

Share