คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ว. พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่ ว. พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงินจำนวน 16,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติว่า ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้องบริษัทที.ที.เซรามิค จำกัด ผู้เสียหายทำสัญญาจ้างบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ก่อสร้างโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิค จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ตำแหน่งพนักงานขับรถเครน ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักร 2 ท่อน ของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด แล้วขับรถเครนบรรทุกไปขายให้แก่นางสาวนาตยา ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายและรับซื้อของเก่าในนามร้านกิจสวัสดิ์การค้า ตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงานของผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 ด้วย ผู้เสียหายแจ้งเหตุแก่ร้อยตำรวจเอกศุภชัย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองแค ร้อยตำรวจเอกศุภชัยเรียกจำเลยทั้งสองไปพบ จากนั้นยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับ แล้วจึงจับกุมจำเลยทั้งสองโดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันลักทรัพย์ซึ่งเป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ในการก่อสร้างโรงงานของผู้เสียหาย บริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ทำสัญญาจ้างนายสิทธิชัย ให้ใช้รถตักเข้าไปทำงานในพื้นที่ก่อสร้างในลักษณะจ้างเหมาพร้อมทั้งคนขับ จำเลยเป็นลูกจ้างนายสิทธิชัย มีหน้าที่ขับรถตักดังกล่าวนั้น เห็นว่า นางสาววรลักษณ์ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด โดยบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ทำรายชื่อลูกจ้างส่งมอบให้แก่ผู้เสียหายด้วย นางสาววรลักษณ์เป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งนักกฎหมาย มีหน้าที่ดูแลเรื่องสัญญาและงานธุรการ ย่อมรู้เห็นรายละเอียดที่ผู้เสียหายว่าจ้างให้บริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ก่อสร้างโรงงานซึ่งรวมทั้งรู้เกี่ยวกับรายชื่อลูกจ้างของบริษัทนั้นด้วย ทั้งโจทก์ยังมีบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อร้อยตำรวจเอกศุภชัย พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 2 ทำงานรับจ้างสร้างโรงงานกับบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ซึ่งหากจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างนายสิทธิชัยจริงแล้วก็ไม่น่าจะให้การเช่นนั้น ไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอกศุภชัยพนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 โดยไม่ถูกต้อง แต่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยไม่มีส่วนได้เสียในคดี ทั้งนางสาววรลักษณ์และร้อยตำรวจเอกศุภชัยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่า จะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 โดยเบิกความหรือจัดทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาให้ผิดไปจากความจริงหรือจากที่จำเลยที่ 2 ให้การประกอบกับในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เพียงอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างนายสิทธิชัย ซึ่งแม้จะนำสืบโดยอ้างสำเนาใบสั่งซื้อซึ่งมีข้อความทำนองว่า บริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ทำสัญญาจ้างนายสิทธิชัยให้ใช้รถตักเข้าไปทำงานในพื้นที่ก่อสร้างก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของนายสิทธิชัย พยานหลักฐานของโจทก์ดังวินิจฉัยมีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด ตามที่โจทก์ฟ้องจริง ที่จำเลยที่ 2 อ้างสำเนาใบบันทึกลงเวลาปฏิบัติงานแนบท้ายฎีกาซึ่งมีข้อความทำนองว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานคุมเครื่องจักรกลที่บริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด เช่าจากนายสิทธิชัยนั้น ก็มิได้มีข้อความใดที่บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนายสิทธิชัยเช่นเดียวกับสำเนาใบสั่งซื้อ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของบริษัทเหลียนเซิ่น จำกัด นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อที่สองว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ช่วยยกท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายขึ้นรถเครนตามคำสั่งของหัวหน้าผู้ควบคุมงาน โดยไม่ทราบว่าหัวหน้าผู้ควบคุมงานสั่งให้จำเลยที่ 1 นำไปขาย ส่วนเหตุที่เดินทางไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยก็เพราะจำเลยที่ 2 ขับรถตักทับหัวเสาเข็มจนยางรั่ว จึงขอให้จำเลยที่ 1 ใช้รถเครนบรรทุกยางรถตักไปซ่อมที่ร้านรับปะยาง เมื่อซ่อมเสร็จจำเลยที่ 1 จึงขับรถเครนบรรทุกท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปขายนั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 2 เพียงแต่ช่วยยกท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายขึ้นรถเครนตามคำสั่งของหัวหน้าผู้ควบคุมงานโดยไม่ทราบว่าหัวหน้าผู้ควบคุมงานสั่งให้จำเลยที่ 1 นำไปขายจริง ก็ควรจะให้การถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนเพื่อจะได้เป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นถึงความสุจริตของจำเลยและเป็นประโยชน์แก่แนวทางการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา แต่บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา กลับปรากฏข้อความว่า จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่ขอให้การในรายละเอียดเพราะมีทนายความแนะนำให้ปฏิเสธไว้ก่อน อีกทั้งเมื่อร้อยตำรวจเอกศุภชัยถามว่า เหตุใดจึงทำบันทึกคำรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักเอาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายแล้วนำไปขาย จำเลยที่ 2 ก็ตอบว่าจะไม่ขอให้การในประเด็นนี้ ข้อความในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาบ่งชี้ว่า เบื้องต้นจำเลยที่ 2 ทำบันทึกคำรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักเอาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหาย แต่ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับคำแนะนำจากทนายความว่าให้ปฏิเสธไว้ก่อน เมื่อร้อยตำรวจเอกศุภชัยถามคำให้การในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 จึงเพียงแต่ให้การปฏิเสธลอยๆ โดยไม่ทันคิดหาเหตุผลในการปฏิเสธ ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเหตุที่เดินทางไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยก็เพราะจำเลยที่ 2 ขับรถตักทับหัวเสาเข็มจนยางรั่ว จึงขอให้จำเลยที่ 1 ใช้รถเครนบรรทุกยางรถตักไปซ่อมที่ร้านรับปะยาง เมื่อซ่อมเสร็จจำเลยที่ 1 จึงขับรถเครนบรรทุกท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปขายนั้น ก็คงมีเพียงจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างลอย ๆ โดยมีจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนปากเดียว ลำพังคำเบิกความของจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้เป็นความจริง สำหรับที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยทั้งสองช่วยกันยกท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายขึ้นรถเครนมาเบิกความ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหานี้ไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า ท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายมีราคาซื้อขายในขณะเกิดเหตุเพียง 2,055 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งนางสาววรลักษณ์พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนเอกสารและเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้ จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เนื่องเพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรดังกล่าวซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่นางสาววรลักษณ์พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share