คำวินิจฉัยที่ 89/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้รับจ้างให้ก่อสร้างรางระบายน้ำและถนนภายในหมู่บ้าน อันถือได้ว่าเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อผู้รับจ้างซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยได้ทำข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทราบแล้วแต่ไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๙/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดพล
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพลโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔ บริษัทอัลฟ่า คอนกรีต จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลลอมคอม จำเลย ต่อศาลจังหวัดพล เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๘/๒๕๕๕ ความว่า จำเลยทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด วิบูลย์วิศวกรรมก่อสร้าง ผู้รับจ้าง ให้ก่อสร้างรางระบายน้ำและถนน คสล. ภายในหมู่บ้าน จำนวน ๒ สาย รวม ๓ สัญญา เป็นเงินค่าจ้างทั้งสิ้น ๒๖๔,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้รับจ้างทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างทั้งหมดให้โจทก์ ซึ่งโจทก์และผู้รับจ้างมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ขอรับเงินค่าจ้างตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงขอนแก่น ซึ่งศาลแขวงขอนแก่นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๕๖,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงขอนแก่นเป็นการฟ้องผิดศาล พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความ และศาลฎีกาพิพากษายืนโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ผูกพันโจทก์ เนื่องจากลงนามโดยนางจิตตาภา บุญจวง ซึ่งมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และโจทก์ก็ไม่ได้ส่งหนังสือมอบอำนาจที่ให้นางจิตตาภามีอำนาจลงนามในสัญญา คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้มีมูลเหตุมาจากการทำสัญญาจ้างก่อสร้างถนนและรางระบายน้ำระหว่างผู้รับจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีลักษณะเป็นสัญญาจ้าง เพื่อจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ประเด็นพิพาทคดีนี้เป็นเพียงการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น หาใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างก่อสร้างถนนและรางระบายน้ำ เมื่อสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างจากจำเลยในฐานะลูกหนี้ของผู้รับจ้างได้โดยตรง และสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้ระบุให้โจทก์มีอำนาจหรือมีสิทธิหน้าที่ในสัญญาจ้างก่อสร้างถนนและรางระบายน้ำ คงมีสิทธิเพียงได้รับเงินค่าจ้างที่ ผู้รับจ้างพึงได้รับเท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ หรือให้โจทก์จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด จึงเป็นสัญญาทางแพ่งทั่วไป มิใช่สัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งและมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างให้ทำการก่อสร้างถนนและรางระบายน้ำภายในหมู่บ้าน ถือเป็นการดำเนินกิจการบริการสาธารณะ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ผู้รับจ้างได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์เป็นผู้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนก็ตาม แต่การพิจารณาว่า การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องวินิจฉัยเกี่ยวเนื่องไปถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับผู้รับจ้าง ประการสำคัญแม้มูลพิพาทคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากสัญญาจ้าง แต่ตามฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องก็มีมูลเหตุที่เกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับผู้รับจ้าง การที่จำเลยไม่ชำระเงินตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามสัญญาอันเกี่ยวเนื่องจากสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด วิบูลย์วิศวกรรมก่อสร้าง ผู้รับจ้าง ให้ก่อสร้างรางระบายน้ำและถนนภายในหมู่บ้าน อันถือได้ว่าเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดวิบูลย์วิศวกรรมก่อสร้าง ผู้รับจ้าง ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยได้ทำข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทราบแล้วแต่กลับไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำและถนนภายในหมู่บ้าน เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำและถนนดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทอัลฟ่า คอนกรีต จำกัด โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลลอมคอม จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share