คำวินิจฉัยที่ 87/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้ผู้ต้องขังทำร้ายร่างกายบุตรของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต อันเป็นการกระทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ มูลความแห่งคดีจึงสืบเนื่องมาจากการที่บุตรของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการจัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุกของศาลยุติธรรม ฉะนั้น อำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่จึงเริ่มต้นต่อเนื่องมาจากหมายจำคุกของศาลยุติธรรมและย่อมสิ้นสุดลงเมื่อศาลยุติธรรมออกหมายปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายอาญาของศาลยุติธรรม และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขัง ย่อมเป็นกฎหมายและกฎระเบียบที่เสริมให้ผู้ถูกฟ้องคดีสามารถจัดการบังคับตามหมายจำคุกและหมายปล่อยรวมถึงคำสั่งใดๆ ของศาลยุติธรรมตาม ป.วิ.อ. ให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย อันอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำคุกก่อนหรือหลังคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๗/๒๕๕๖

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ นางอารีย์ อภิรมย์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๗/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นมารดาของนายจักรพันธ์ อภิรมย์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ปล่อยให้นายสังวรณ์ พันธ์ไผ่ ผู้ต้องขัง ทำร้ายร่างกายบุตรของผู้ฟ้องคดีจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพแก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานีรับตัวบุตรของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดไว้คุมขังตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้ายและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น กำหนดจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน โดยนำตัวคุมขังไว้ที่ห้องสำหรับใช้คุมขังผู้ต้องขังใหม่และผู้ต้องขังที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุตรของผู้ฟ้องคดีได้ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุตกเลือดในช่องเยื่อบุสมอง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการมีความเห็นว่าการตายของบุตรของผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากการถูกทำร้าย แต่การที่นักโทษชายสังวรณ์ พันธ์ไผ่ และนักโทษชายสวัสดิ์ วงศ์ประยูร ได้ร่วมกันทำร้ายบุตรของผู้ฟ้องคดีก่อนตาย เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบวินัยของเรือนจำและเป็นการกระทำผิดอาญา ส่วนเจ้าหน้าที่เวรรักษาการและพัศดีเวรได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว เห็นควรดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีอาญาแก่นักโทษชายทั้งสอง สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ด้วยแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องตามระเบียบและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่เหตุและพฤติการณ์แล้วจึงไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจและหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่ถึงที่สุด เป็นการดำเนินการที่แยกต่างหากจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากคำพิพากษาจะระบุให้จำคุกหรือกักขังซึ่งหมายถึงการจำกัดอิสรภาพเท่านั้น แต่การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีกฎหมาย กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ซึ่งเป็นกฎที่กำหนดขั้นตอนและวิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องขัง การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังจึงมิใช่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นการกระทำทางปกครอง โดยเมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำได้รับตัวผู้ต้องขังเข้าไปอยู่ในความควบคุมดูแลภายในเรือนจำแล้ว เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการควบคุมดูแลทุกข์สุขของผู้ต้องขัง ปกครองและควบคุมระเบียบวินัยผู้ต้องขัง รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจตราป้องกันการกระทำผิดวินัยของผู้ต้องขังตามที่พระราชบัญญัติและกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวกำหนดไว้ การที่บุตรของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกผู้ต้องขังอื่นทำร้ายเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ในการปกครองและควบคุมระเบียบวินัยของผู้ต้องขัง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสิ้นสุดลงเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จึงมิใช่เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่คดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดในทางละเมิดนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๓) มุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องโดยอ้างว่าเหตุที่บุตรของผู้ฟ้องคดีถูกผู้ต้องขังอื่นทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายเป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าพนักงานเรือนจำที่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ต้องขังอื่นทำร้ายร่างกายบุตรของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นเรื่องการละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามธรรมดาทั่วไปเท่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้บัญชาการเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ปล่อยให้ผู้ต้องขังทำร้ายร่างกายบุตรของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดและถูกคุมขังตามหมายจำคุกคดีถึงที่สุด จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพแก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น มูลความแห่งคดีจึงสืบเนื่องมาจากการที่บุตรของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตายขณะอยู่ในอำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี อันเป็นการจัดการให้เป็นไปตามหมายจำคุกของศาลยุติธรรม ที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๔ และมาตรา ๘๙ ฉะนั้น อำนาจคุมขังของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวจึงเริ่มต้นต่อเนื่องมาจากหมายจำคุกของศาลยุติธรรมและย่อมสิ้นสุดลงเมื่อศาลยุติธรรมออกหมายปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๗ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ นอกจากนี้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๙/๒ ศาลยุติธรรมอาจมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดไว้ในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำ หรือวิธีการอื่นที่จำกัดการเดินทางและอาณาเขตก็ได้ หรือศาลยุติธรรมอาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน เมื่อปรากฏเหตุดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ ก็สามารถกระทำได้เช่นกัน ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายอาญาของศาลยุติธรรม และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตลอดจนกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขัง ย่อมเป็นกฎหมายและกฎระเบียบที่เสริมให้ผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีสามารถจัดการบังคับตามหมายจำคุกและหมายปล่อยรวมถึงคำสั่งใดๆ ของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย อันอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำคุกก่อนหรือหลังคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางอารีย์ อภิรมย์ ผู้ฟ้องคดี กรมราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share