แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันถึงที่สุด เป็นกรณีลูกจ้างฟ้องให้นายจ้างชำระเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 124 วรรคสาม และ ป.พ.พ. มาตรา 582 ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ร้องเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลย ไม่ใช่ผู้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยให้ทำการแทนจึงไม่ใช่นายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 ตามความหมายคำว่านายจ้าง (2) และไม่ใช่ผู้ตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานให้ จึงไม่ใช่นายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ผู้ร้องไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับโจทก์ ผลแห่งคดีมีเพียงว่านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างหรือไม่เพียงใด เมื่อผู้ร้องไม่ใช่นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ที่อนุโลมให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้ในคดีแรงงานนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ร้องไม่ใช่นายจ้างผู้ต้องรับผิดชอบชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ที่ต้องถูกศาลแรงงานกลางมีคำบังคับ กำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับตามมาตรา 272 ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ทุเลาการบังคับ และศาลจะงดการบังคับคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้และถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 293 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงขอระงับหรืองดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวไม่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองร้อยหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 206 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งสองร้อยหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันถึงที่สุดโดยจำเลยไม่นำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลย โจทก์ทั้งสองร้อยหกสมรู้กับกรรมการจำเลยผู้มีเจตนาปิดกิจการและเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยหกโดยระบุภูมิลำเนาจำเลยในคำฟ้องเป็นสาขาของจำเลยเพื่อมิให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่มีมติโดยไม่ชอบให้ปิดกิจการของจำเลยเพราะผู้แทนผู้ถือหุ้นใหญ่มีส่วนได้เสียในมติด้วย เป็นผู้มีกิจการเป็นสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับจำเลย ผู้ร้องจะต้องฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสองร้อยหกและจำเลยด้วยเหตุที่โจทก์ทั้งสองร้อยหกกับพวกพาบุคคลภายนอกมาปิดกั้นทางเข้าออกบริษัทจำเลย ทำให้ลูกค้าจำเลยไม่อาจนำสินค้าที่ว่าจ้างจำเลยผลิตออกไปได้ทำให้ลูกค้าไม่สามารถส่งสินค้านั้นไปต่างประเทศได้ จำเลยต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายของลูกค้า ผู้ร้องไม่อาจให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยกระทำการรักษาประโยชน์ของจำเลยได้ ศาลแรงงานกลางสอบโจทก์ทั้งสองร้อยหก จำเลย และผู้ร้องแล้ว แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นจำเลย เดิมผู้ร้องเคยเป็นกรรมการของจำเลยแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเพียงผู้ถือหุ้นจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับคดี ผู้มีส่วนได้เสียคือจำเลยไม่ใช่ผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความร่วม มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยค้างชำระและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองร้อยหกและออกคำบังคับแก่จำเลย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำพิพากษาและคำบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยค้างชำระและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสองร้อยหกมิได้บังคับผู้ร้อง จึงไม่มีกรณีที่ต้องขอทุเลาการบังคับ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง หลังจากศาลแรงงานกลางออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี มีคำสั่งให้ยกคำร้อง หลังจากศาลแรงงานกลางออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ระงับหรืองดการบังคับคดีชั่วคราวจนกว่าศาลอุทธรณ์ (ที่ถูกศาลฎีกา) จะมีคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งทั้งสามคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีที่จะร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยเป็นการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีจึงจะมีสิทธิเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองร้อยหกผู้เป็นลูกจ้างฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันถึงที่สุด เป็นกรณีลูกจ้างฟ้องให้นายจ้างชำระเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ร้องเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลย ไม่ใช่ผู้ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและไม่ได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยให้ทำการแทน จึงไม่ใช่นายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ตามความหมายคำว่านายจ้าง (2) และไม่ใช่ผู้ตกลงจะใช้สินจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองร้อยหกผู้เป็นลูกจ้างทำงานให้ จึงไม่ใช่นายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ผู้ร้องไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับโจทก์ทั้งสองร้อยหก ผลแห่งคดีมีเพียงว่านายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างหรือไม่เพียงใด เมื่อผู้ร้องไม่ใช่นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองร้อยหก ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเข้าเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ส่วนกรณีความเสียหายที่ผู้ร้องอ้างว่าโจทก์ทั้งสองร้อยหกกับพวกพาบุคคลภายนอกมาปิดกั้นทางเข้าออกบริษัทจำเลย ลูกค้าจำเลยไม่อาจนำสินค้าที่ว่าจ้างจำเลยผลิตออกไปได้ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถส่งสินค้านั้นไปต่างประเทศได้ จำเลยต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายของลูกค้านั้น เป็นกรณีที่จะต้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ทั้งสองร้อยหกกับพวกต่อไปเป็นอีกคดีหนึ่ง อุทธรณ์ของผู้ร้องประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องขอทุเลาการบังคับและขอระงับหรืองดการบังคับคดีชั่วคราวได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ที่อนุโลมให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในคดีแรงงานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ร้องไม่ใช่นายจ้างผู้ต้องรับผิดชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ไม่เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้ที่ต้องถูกศาลแรงงานกลางมีคำบังคับ กำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับตามมาตรา 272 ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะขอให้ทุเลาการบังคับ และศาลจะงดการบังคับคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้และถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่ว่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 293 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงขอระงับหรืองดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวไม่ได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องประการนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน