คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 445,115 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงิน 133,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 7,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงยกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนางยุพา แสงชาตรี และผู้ค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 เป็นนายกะแมน สายวารี และจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่นางยุพาไปแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เรียกค่าขาดประโยชน์สูงเกินไป และไม่อาจเรียกราคารถใช้แทนได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่นางสาวพรพิมล พันธ์ยศ พนักงานของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ให้นางยุพา แสงชาตรี และนายกะแมน สายวารี เป็นผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง นางสาวพรพิมลได้ให้จำเลยที่ 1 และนางยุพาลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ให้นางยุพาลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ หลักฐานการรับมอบรถยนต์และสัญญาเช่าซื้อ ให้นายกะแมนลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันตามสำเนาหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ สำเนาสัญญาเช่าซื้อ สำเนาสัญญาค้ำประกัน และสำเนาหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 (หรือเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8) จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อจำนวน 1,000 บาท ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 5 งวด หลังจากนั้นไม่ได้ชำระค่าซื้อให้แก่โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 16 มิถุนายน 2540 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ยังไม่เลิกกัน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไม่ได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด เพราะโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อยังไม่ได้ลงลายมือชื่อ จึงใช้บังคับไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 มาตรา 152 และมาตรา 9 เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 แล้วต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ยังไม่ครบกำหนดชำระค่าเช่าซื้อในงวดถัดไป จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับนางสาวพรพิมล พันธ์ยศ พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่โดยให้นางยุพา แสงชาตรี เป็นผู้เช่าซื้อและให้นายกะแมน สายวารี เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง นางสาวพรพิมลจึงให้จำเลยที่ 1 และนางยุพาซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ ให้นางยุพาลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์โดยนางสาวพรพิมลพนักงานของโจทก์ข้างต้นลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบซึ่งปรากฏรายละเอียดตามหลักฐานการรับมอบรถยนต์เอกสารหมาย ล.4 ว่ามีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารจากพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาเช่าซื้อ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ยินยอมให้มีการตกลงโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อกันดังกล่าวและทำหลักฐานรับมอบรถยนต์ให้แก่นางยุพาไป ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่างนางยุพากับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นๆ อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share