คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5706/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ก่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันฆ่าผู้ตายเมื่อข้อเท็จจริงในการพิจารณารับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วาน ให้ผู้อื่นไปฆ่าผู้ตาย จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ก่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันฆ่านายภู จำปาอุ่น ผู้ตาย ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันใช้เชือกไนลอน ขนาด 2 หุน ยาว 2.65 เมตร จำนวน1 เส้น เป็นอาวุธรัดคอผู้ตายโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามที่จำเลยที่ 1 ใช้ จ้างวาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83, 84 และ 33ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 84จำคุกตลอดชีวิต คำรับในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1พ้นโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อแล้ว จึงให้ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 11มกราคม 2539 เวลาเช้า มีผู้พบศพนายภู จำปาอุ่น ผู้ตายมีเชือกแขวนคออยู่กับต้นมะม่วงข้างทางระหว่างทางไปบ้านจำเลยที่ 3 กับซอยแยกเข้าหมู่บ้านผู้ตาย ห่างบ้านผู้ตายกับบ้านจำเลยที่ 3 ประมาณ 100 เมตร โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนและยอมรับว่าได้ให้เงินแก่พันตำรวจโทยุทธการ พิพัฒนโกศัย เพื่อให้ยุติการสอบสวนย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ และจำเลยที่ 1 ยังรับสารภาพต่อพันตำรวจโทรักศักดิ์ อธิคม โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกบังคับขู่เข็ญ การรับสารภาพดังกล่าวเป็นการรับสารภาพหลังเกิดเหตุหลายวัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสคิดตรึกตรองได้ก่อน อีกทั้งจำเลยที่ 1ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพอีกด้วยแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้ในการกระทำผิด นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุโจทก์มีนายสุรพล พรมมาอินทร์ มาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม2539 เวลา 16 ถึง 17 นาฬิกา ขณะที่นายสุรพลเลี้ยงไก่อยู่หลังบ้านมีจำเลยที่ 1 มาหาและบอกว่าประสงค์จะขายที่ดินให้หาบุคคลอื่นมาซื้อ กับพูดอีกว่าผู้ตายสามีจำเลยที่ 1 ขี้เหล้าเมายาทุบตีจำเลยที่ 1 และเอาเงินไปซื้อสุราดื่ม ขอให้นายสุรพลหาคนมาฆ่าผู้ตาย แต่นายสุรพลพูดว่าอย่าไปทำเลย จำเลยที่ 1 พูดว่าจะไปหาคนอื่น นายสุรพลรู้จักจำเลยที่ 1 มา 11 ปี แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1ก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 1 รู้จักนายสุรพล แม้เรื่องการฆ่าผู้ตายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ปรากฏเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1จะไม่พูดเรื่องการฆ่าผู้ตายกับนายสุรพลซึ่งเป็นการพูดกันสองต่อสองไม่มีผู้อื่นอยู่ด้วย รวมทั้งเป็นสถานที่ที่เป็นส่วนตัวนายสุรพลไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เชื่อว่านายสุรพลเบิกความไปตามความเป็นจริง พยานหลักฐานของโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำตามฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องยืนยันว่าจำเลยที่ 1ก่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดด้วยการใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตาย แต่ในการพิจารณาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามฟ้อง แต่พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วาน ให้มีการฆ่าผู้ตายจริง จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 84 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วานให้ผู้อื่นไปฆ่าผู้ตายก็ตามแต่ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้จ้าง วานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฆ่าผู้ตาย จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ จ้าง วานให้มีการฆ่าผู้ตายตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญซึ่งศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215 ประกอบด้วยมาตรา 192 วรรคสอง ดังนี้แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6จะได้วินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้ผู้ใดฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีแต่บันทึกคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ป.จ.4 (ศาลจังหวัดเลย) และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.22 กับคำเบิกความของนายสุรพลที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ไปขอให้หาคนมาฆ่าผู้ตายก่อนเกิดเหตุซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ในการสอบปากคำจำเลยที่ 1พันตำรวจโทยุทธการบอกจำเลยที่ 1 ว่า หากบอกตัวผู้ว่าจ้างวาน และผู้ที่ฆ่าผู้ตาย จะกันจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพยาน พันตำรวจโทยุทธการบอกจำเลยที่ 1 ว่าตนทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ร่วมวางแผนในการฆ่าผู้ตาย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เรียนจบเพียงชั้นประถมปีที่ 4 อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ กรณีจึงเป็นไปได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะเชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะกันจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพยานและไม่จับจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดี ดังนี้ ย่อมมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจโดยไม่มีผู้ใดหลอกลวงหรือให้คำมั่นสัญญาใด ๆ หรือไม่ ส่วนนายสุรพลพยานโจทก์ก็ปรากฏว่าไม่ได้เป็นคนในท้องที่ที่เกิดเหตุแต่มาได้ภรรยาในท้องที่นั้น นายสุรพลรู้จักจำเลยที่ 1 แต่ไม่คุ้นเคยกัน เพิ่งจะมาพูดกับจำเลยที่ 1 เรื่องที่จำเลยที่ 1 มาขอให้หาคนฆ่าผู้ตายเป็นครั้งแรก จึงยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะไว้วางใจนายสุรพลผู้ซึ่งจำเลยที่ 1 พูดด้วยเป็นครั้งแรกให้หาคนมาฆ่าผู้ตายให้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้น จะเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยละเอียดและมีเหตุผลที่ดียิ่งก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังในการพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องพิพากษายกฟ้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share