คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ร้องที่ขอรับชำระหนี้จำนองจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 เป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง คำร้องเช่นนี้ มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีโดยมีอำนาจในการออกหมายบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้น มาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ย่อมหมายถึงศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น และแม้มาตรา 15 วรรคสอง จะบัญญัติให้ศาลที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลที่ออกหมายบังคับคดีดำเนินไปเสมือนหนึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนตามมาตรา 32 วรรคสาม แต่ก็หาได้บัญญัติให้ถือเสมือนหนึ่งว่า ศาลที่บังคับคดีแทนเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีแต่อย่างใดไม่ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลที่บังคับคดีแทนจึงเป็นการไม่ชอบ
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 และให้ผู้ร้องไปดำเนินการที่ศาลที่มีอำนาจต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับหรือคืนคำร้องไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ จึงต้องคืนค่าคำร้องแก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดนครราชสีมา) บังคับคดีแทน และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา ได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 101968 และโฉนดเลขที่ 101969 ตำบลไชยมงคล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ทั้งสองแปลงติดจำนองอยู่กับผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 894/2545 ของศาลแขวงนครราชสีมา ซึ่งพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงิน 236,119.90 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายที่ดินที่ยึดนั้นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนอง ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้อื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทนศาลจังหวัดเชียงใหม่ มิใช่ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ให้ผู้ร้องไปดำเนินการที่ศาลที่มีอำนาจต่อไป
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดนครราชสีมา) ที่บังคับคดีแทนศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ไต่สวนและมีคำสั่งได้หรือไม่ เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น คำร้องเช่นนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) อันเป็นบทบัญญัติในเรื่องเขตอำนาจศาลบัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302 และศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีโดยมีอำนาจออกหมายบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใดๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามพิพากษานั้น มาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ดังนั้น ศาลที่ออกหมายบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ย่อมหมายถึงศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนมาตรา 15 วรรคสอง ที่ผู้ร้องอ้างเพียงแต่บัญญัติให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีนอกเขตศาลที่ออกหมายบังคับคดีดำเนินการไปเสมือนหนึ่งเป็นศาลที่บังคับคดีแทนตามมาตรา 302 วรรคสาม บทกฎหมายดังกล่าวหาได้บัญญัติให้ถือเสมือนหนึ่งว่าศาลที่บังคับคดีแทนเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีแต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ไต่สวนและมีคำสั่ง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องและให้ผู้ร้องไปดำเนินการที่ศาลที่มีอำนาจต่อไปนั้น มีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับหรือคืนคำร้องนั้นไปเพื่อยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจคือศาลจังหวัดเชียงใหม่ จึงต้องคืนค่าคำร้องแก่ผู้ร้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าคำร้องเป็นพับ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าคำร้องแก่ผู้ร้อง

Share