คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยจะได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานเป็นรายวันเฉพาะในวันที่จำเลยมาทำงานให้แก่โจทก์เท่านั้น หากวันใดโจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้สอบสวนจนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ แม้จำเลยจะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวไว้ โจทก์จึงมาทำงานให้แก่จำเลยไม่ได้ ก็ไม่ใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีหน้าที่ตัดเหล็กเส้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 103 บาทและค่าครองชีพเดืนอละ 75 บาท จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่1 ถึง 25 พฤษภาคม 2533 เป็นเงิน 2,650 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน18,990 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 2,060 บาทให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 83,700 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน ได้รับค่าจ้างในอัตราวันละ 103 บาท และเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ เดือนละ 75 บาท โจทก์ได้ลักทรัพย์สินของจำเลยที่โรงงานซึ่งโจทก์ทำงานอยู่ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่ง กฎ ระเบียบข้อบังคับใในการทำงานของจำเลยในสถานร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยคงค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 13ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2533 รวม 5 วันทำงาน เป็นเงิน 847 บาทโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่เพียงอย่างเดียวโดยมิได้ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ลักตลับลูกปืนของจำเลยซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับจำเลยอย่างร้ายแรงหรือไม่ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายนั้น โจทก์เป็นลูกจ้างรายวัน จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2533 โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้สอบสวน ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2533 จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2533ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 13ถึง 18 พฤษภาคม 2533 รวม 6 วัน คิดค่าจ้างวันละ 103 บาท เป็นเงิน618 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 75 บาท เท่ากับวันละ 2.50 บาทเป็นเงิน 15 บาท รวมเป็นค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 633 บาทพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 633 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม2533 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.6 ว่าเหตุที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยนั้น มิใช่ความผิดของโจทก์แต่เป็นเพราะจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในวันที่ 19พฤษภาคม 2533 และได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2533จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 25 พฤษภาคม 2533รวม 13 วัน เป็นเงิน 1,371.50 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ พิเคราะห์แล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง”ไว้ว่าหมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนดคำนวรหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ในข้อดังกล่าวเห็นได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยจะได้รับค่าจ้างซึ่งเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานเป็นรายวันเฉพาะในวันที่จำเลยมาทำงานให้แก่โจทก์เท่านั้น หากวันใดโจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้สอบสวนตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2533 จนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์แม้จำเลยจะเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย และโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและควบคุมตัวไว้ทำการสอบสวน โจทก์จึงไม่ได้มาทำงานให้แก่จำเลยก้ไม่ใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างนั้นให้แก่โจทก์ จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2533 โจทก์คงมิได้รับค่าจ้างที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายให้ตั้งแต่วันที่ 13 ถึง 18 พฤษภาคม 2533 รวม 6 วัน แต่ไม่มีสิทะิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 19พฤษภาคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถูกจับกุมและควบุคมตัวไว้ทำการสอบสวนจนถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share