แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 56 มิได้ยกเว้นในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลทหาร เมื่อจำเลยเคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลทหารมาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ ริบกระเป๋าของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) (ที่ถูก 335 (1) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ) จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ริบกระเป๋า 1 ใบ ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยเคยได้รับโทษจำคุกของศาลมณฑลทหารบกที่ 21 มาก่อน จึงไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ เป็นการคลาดเคลื่อนต่อกฎหมาย เนื่องจากความหมายของคำว่าเคยรับโทษจำคุก หมายถึงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลยุติธรรม แต่คดีนี้จำเลยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลทหาร จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เห็นว่า ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ยกเว้นในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเคยต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลทหาร ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ไม่อาจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น จึงเป็นไปโดยชอบตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน