แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุว่าในกรณีมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด มิได้มีข้อความใดๆ กำหนดว่าก่อนจะมีการบอกเลิกสัญญาต้องนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการก่อน และกรณีนี้ก็ได้มีการนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนฟ้องคดีแล้ว ตามสัญญาข้อ 21.4 ระบุว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือของอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา เมื่อได้พิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 20 แล้ว เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณี คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามมาตรา 22 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างระบบระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียพื้นที่เร่งด่วนระยะที่ 1 ภายในเขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 48,500,000 บาท ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด โจทก์จึงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ชอบ ให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 1 และงวดที่ 2 เป็นเงิน 4,850,000 บาท และค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นเงิน 43,275,879.02 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยส่งมอบหนังสือสัญญาค้ำประกันคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 43,275,879.02 บาท นับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปถึง 416 วัน จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ระงับการพิจารณาคดีชั้นอนุญาโตตุลาการและยกคำเสนอข้อพิพาทของโจทก์ คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้จำเลยใช้เงินจำนวน 2,121,875 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยขัดต่อบทกฎหมาย กล่าวคือ การที่อนุญาโตตุลาการไม่ได้วินิจฉัยการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ต้องนำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนแต่กลับวินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดผิดไปจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย และที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ 2,121,875 บาท ก็เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่มีข้อบกพร่องอันเป็นสาระสำคัญที่ศาลสามารถแก้ไขได้เพราะโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 2 งวด และกำลังก่อสร้างงวดที่ 3 จำเลยจึงต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ 4,850,000 บาท กับค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานอีก 43,275,879.02 บาท ขอให้พิพากษาว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยชดใช้เงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 และงวดที่ 2 แก่โจทก์จำนวน 4,850,000 บาท กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการก่อสร้างเป็นเงิน 43,275,879.02 บาท จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แก้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเนื่องจากก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาตามฟ้องในอนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด โดยอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดและส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสี่แล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามมาตรา 22 โจทก์คงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดเพื่อให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 23 และ 24 การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแก้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้จำเลยใช้เงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมเป็นเงิน 48,125,879.02 บาท แก่โจทก์ เป็นการฟ้องขอให้เปลี่ยนแปลงคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อสาระสำคัญ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลชั้นต้นชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าก่อนจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ จำเลยมิได้เอาข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเสนอต่ออนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดเสียก่อนว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างข้อ 21 จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างจึงบอกเลิกสัญญาจ้างและได้มีการนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดแล้ว เห็นว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อ 21.1 ระบุว่าในกรณีมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด ซึ่งมิได้มีข้อความใดๆ กำหนดว่าก่อนจะมีการบอกเลิกสัญญากันต้องนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน และกรณีนี้ก็ได้มีการนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนฟ้องคดี กล่าวคือ อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันก่อนวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 และตามสัญญาข้อ 21.4 ยังระบุอีกว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือของอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณีให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา เมื่อได้พิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 20 แล้ว เห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณี คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามมาตรา 22 แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า คดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 26 จึงพิพากษายกอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน