แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อบังคับของนายจ้างที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ถูกเลิกจ้าง หรือลาออก หรือตาย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หากนายจ้างประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับดังกล่าวในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะต้องได้ รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือมิฉะนั้นจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อไป เมื่อปรากฏว่า ข้อบังคับฉบับเดิมไม่ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ การที่นายจ้างออกข้อบังคับฉบับใหม่ให้ยกเลิกข้อบังคับฉบับเดิม โดยข้อบังคับฉบับใหม่ได้ตัดสิทธิของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่ให้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ ข้อบังคับฉบับใหม่จึงมีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างที่ปฎิบัติงานอยู่ก่อนมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้กระทำโดยถูกต้อง ข้อบังคับฉบับใหม่คงมีผลเฉพาะต่อลูกจ้างใหม่ที่เข้าทำงานภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นเท่านั้น หามีผลต่อลูกจ้างที่ทำงานอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับฉบับใหม่มีผลใช้บังคับไม่
แม้จำเลยจะได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การไว้แล้วว่าข้อบังคับของจำเลยเป็นคำสั่ง ระเบียบแบบแผนซึ่งออกโดยกฎหมายปกครอง ไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้างไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานกลางได้ พิจารณาพิพากษาคดีเสร็จโดยไม่มีเหตุสงสัยว่าคดีดังกล่าวไม่นำกฎหมายแรงงานมาใช้ บังคับ และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ทั้งศาลแรงงานกลางก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งและบรรจุโจทก์เป็นพนักงานตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายธุรการ ต่อมาจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ในขณะที่โจทก์ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานของจำเลยนั้น จำเลยมีข้อบังคับฉบับที่ ๓๑ กำหนดให้พนักงานมีสิทธิได้รับกองทุนสงเคราะห์เมื่อพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุครบเกษียณอายุ ข้อบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อบังคับ ฉบับที่ ๓๑ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวน๔๒๘,๑๖๐ บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง ๒๗๖,๗๒๐ บาท ยังขาดอยู่อีกจำนวน ๑๕๑,๔๔๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ตามข้อบังคับดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔ ใช้ในการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ ตามข้อบังคับดังกล่าว พนักงานที่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์ เว้นแต่ค่าชดเชยนั้นต่ำกว่าค่าเงินสงเคราะห์ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น ตามข้อบังคับนี้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์๒๗๖,๗๒๐ บาท เท่านั้น จำเลยมีอำนาจที่จะออกข้อบังคับ ฉบับที่ ๒๔เพื่อให้มีผลเป็นการยกเลิกข้อบังคับฉบับที่ ๓๑ ได้ ข้อบังคับดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยออกข้อบังคับ ฉบับที่ ๒๔ จึงไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. ๒๕๑๙ ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๒๔ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ตามคำแนะนำของกระทรวงการคลังโดยจำเลยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยออกข้อบังคับฉบับที่ ๒๔ โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและข้อบังคับดังกล่าวกำหนดตัดสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยไม่ให้ได้รับเงินสงเคราะห์ เป็นการขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ ฉบับที่ ๓๑ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์น้อยไปจริง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๑๙ มิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่เป็นคำสั่ง ระเบียบแบบแผนซึ่งออกโดยกฎหมายปกครอง จำเลยไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้างและไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับนั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๗, ๘ กำหนดไว้ว่า “ข้อ ๗ ภายใต้บังคับข้อ ๑๐ ให้ผู้ปฏิบัติงานที่พ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ตามเกณฑ์ในข้อ ๘
(๑) ครบเกษียณอายุ
(๒) ให้ออกหรือเลิกจ้าง เว้นแต่กรณีให้ออกหรือเลิกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้จงใจปกปิดข้อเท็จจริงไว้ในขณะเข้าปฏิบัติงาน และกรณีให้ออกหรือเลิกจ้างเพราะขาดพื้นความรู้อยู่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นพนักงานหรือก่อนได้รับการจ้างเป็นลูกจ้าง
(๓) การลาออก
(๔) ตาย
ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานนั้นต้องมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปีสำหรับกรณี (๑) หรือ (๒) และไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับกรณี (๓)และไม่จำกัดอายุการทำงานสำหรับกรณี (๔)
ข้อ ๘ ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อ ๗ มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน
อายุการทำงานตามวรรคหนึ่ง ให้นับแต่จำนวนปีโดยถืออายุการทำงานสามร้อยหกสิบห้าวันเป็นหนึ่งปี เศษของปีถ้าถึงหนึ่งร้อยแปดสิบสามวันให้นับเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบสามวันให้ตัดทิ้ง”
จะเห็นได้ว่าข้อบังคับดังกล่าวของจำเลยได้กำหนดจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือตาย จึงเป็นการจ่ายเงินสวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ตรงกับความหมายของสภาพการจ้างตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ จำเลยได้ใช้บังคับกับพนักงานตลอดมา ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ นี้จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๓๑ ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน หรือมิฉะนั้นจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ จนมีการเจรจาตกลงกันหรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ต่อไปแต่ปรากฏว่าจำเลยได้ออกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๒๔ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ยกเลิกข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๓๑ และใช้ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔ แทนตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕เป็นต้นไป ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔ ได้กำหนดไว้ในข้อ ๑๗ ว่า “พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้นต่ำกว่าเงินสงเคราะห์ที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้น” ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ได้ตัดสิทธิของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่ให้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อบังคับฉบับเดิมไม่ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์แต่อย่างใด ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔ซึ่งเป็นข้อบังคับฉบับใหม่จึงมีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างเดิมที่ปฏิบัติงานอยู่ก่อนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ เมื่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้กระทำโดยถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว การประกาศใช้ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒๔ ของจำเลยคงมีผลเฉพาะลูกจ้างใหม่ที่เข้าทำงานภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเท่านั้นหามีผลต่อลูกจ้างที่ทำงานอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมฉบับที่ ๒๔ มีผลใช้บังคับคือวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๓๑ ข้อ๔ ข และ ๘ เดิม จำเลยจะนำเอาข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๒๔มาใช้บังคับเพื่อเป็นเกณฑ์ในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่โจทก์โดยการจ่ายเงินสงเคราะห์เฉพาะส่วนที่มากกว่าค่าชดเชยทำให้โจทก์ได้รับเงินสงเคราะห์น้อยลงหาได้ไม่ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เต็มจำนวนตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. ๒๕๑๙ ไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้าง จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓๑ ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๑๙เป็นคำสั่งระเบียบแบบแผนซึ่งออกโดยกฎหมายปกครอง ไม่ต้องนำมาตกลงกับลูกจ้าง ไม่ใช่เรื่องที่จะนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับเห็นว่า ประเด็นนี้แม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จแล้ว โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าคดีนี้ไม่นำกฎหมายแรงงานมาใช้บังคับและไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง และศาลแรงงานกลางมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน.