แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2557 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์และกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองมิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท และมิได้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท กรณีย่อมแปลความหมายได้อยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แล้วมีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้ว เป็นการไม่ชอบ ทั้งหากต่อไปในภายภาคหน้า จำเลยทั้งสองได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกเหนือจากวันเวลาตามฟ้องคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อาจพิพากษาล่วงหน้าไว้ในคดีนี้โดยสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์และเป็นสมบัติของโจทก์ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่าสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินพิพาทแปลงอื่นเป็นที่ดินของสุสานทุ่งมนซึ่งไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองมิใช่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การวินิจฉัยชี้ขาดถึงสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินสุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทแปลงอื่นซึ่งมิใช่ประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลภายนอกคดี จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ ทั้งไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกระจ่าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง กรณีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากบริเวณสุสานทุ่งมนปราสาทเพชร และที่ดินทั้งหมดของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองหยุดกระทำละเมิด ระงับการก่อสร้างสิ่งใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริเวณสุสานทุ่งมนและที่ดินของโจทก์ ระงับการสร้างวัตถุมงคลและทำพิธีกรรมต่างๆ ในนามของหลวงปู่หงษ์ ระงับการทำสัญญาเช่ากับบุคคลใดซึ่งจะมาใช้พื้นที่ขายของหรืออยู่อาศัย หยุดเก็บเงินที่ได้จากการบริจาคของพุทธศาสนิกชนภายในบริเวณสุสานทุ่งมนและที่ดินของโจทก์ หยุดเก็บเงินหรือให้เช่าวัตถุมงคลในนามของหลวงปู่หงษ์หรือคุ้มครองประโยชน์อื่นใดเพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสองนำเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนไปเก็บเป็นส่วนตัว
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นวัดและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยจัดตั้งเป็นวัดตั้งแต่ปี 2342 จนถึงปัจจุบันตามสำเนาหนังสือรับรอง เดิมมีพระครูประสาทพรหมคุณหรือหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2541 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 หลวงปู่หงษ์มรณภาพขณะเป็นเจ้าอาวาสตามสำเนาตราตั้งเจ้าอาวาส และแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย เมื่อปี 2519 หลวงปู่หงษ์ได้เข้าไปจัดสร้างสถานที่วิปัสสนากรรมฐานเพื่อใช้ในพิธีศาสนกิจและสร้างที่พำนักของพระสงฆ์ในที่ดินป่าช้าทุ่งมนที่ชาวบ้านเรียกว่าสุสานทุ่งมน เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดของโจทก์ประมาณ 1 กิโลเมตร และระหว่างที่หลวงปู่หงษ์เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่หงษ์ได้ซื้อที่ดินข้างเคียงสุสานทุ่งมนจากผู้อื่นรวม 13 แปลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาท แล้วก่อสร้างกำแพงรั้วล้อมแนวเขตสุสานกับถมดิน ปลูกสร้างตึกแถวและล้อมรั้วให้ชาวบ้านเช่า วางแผงบูชาพระเครื่องและวัตถุมงคลตามสำเนาแผนที่พิพาท และสำเนาภาพถ่าย ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม 2541 ทางราชการได้ขึ้นทะเบียนสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันตามสำเนาหนังสือสำคัญสำหรับที่ และในปี 2553 ระหว่างที่เป็นเจ้าอาวาส หลวงปู่หงษ์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 ให้ทำหน้าที่ดูแลจัดระเบียบกิจการต่างๆ ภายในสุสานทุ่งมนตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือแต่งตั้งโดยขณะนั้น จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งมน มีหน้าที่ดูแลสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะที่ต้องห้ามไม่ให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากบริเวณสุสานทุ่งมนและที่ดินทั้งหมดที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองหยุดกระทำละเมิด ระงับการก่อสร้างสิ่งใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของโจทก์ ระงับการสร้างวัตถุมงคลและทำพิธีกรรมต่างๆ ในนามของหลวงปู่หงษ์ ระงับการทำสัญญาเช่ากับบุคคลซึ่งจะมาใช้พื้นที่ขายของหรือที่อยู่อาศัย หยุดเก็บเงินที่ได้จากการบริจาคของพุทธศาสนิกชนภายในบริเวณที่ดินของโจทก์ หยุดเก็บเงินหรือให้เช่าวัตถุมงคลในนามของหลวงปู่หงษ์หรือคุ้มครองประโยชน์อื่นใดเพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสองนำเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนไปเก็บเป็นส่วนตัว โดยโจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า เมื่อประมาณวันที่ 6 มีนาคม 2557 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2557) จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปจัดการกำกับดูแลกิจการต่างๆ ในสุสานทุ่งมนและปราสาทเพชร อาทิเช่น เก็บเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญ เก็บค่าเช่าบูชาพระเครื่อง เก็บเงินค่าดอกไม้ธูปเทียน ค่าบูชาครู ค่าเช่าวัตถุมงคล เข้าไปจัดงานพิธีทางศาสนาแสวงหาประโยชน์จากสุสานทุ่งมนและที่ดินของโจทก์ ทั้งพยายามกีดกันไม่ให้รักษาการเจ้าอาวาสของโจทก์กับพวกเข้าไปดูแลจัดการตามหน้าที่ โดยการกระทำของจำเลยทั้งสองที่กล่าวมาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินบริจาคและเป็นการขัดขวางกระทบกระเทือนสิทธิหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของหลวงปู่หงษ์ตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานและพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยมีคำวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2557 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 จำเลยทั้งสองมิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ ทั้งมิได้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด เมื่อประเด็นสำคัญแห่งคดีมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดในศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองมิได้บุกรุกและกระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตามข้อกล่าวหาในฟ้อง ทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเช่นนี้ กรณีย่อมแปลความหมายได้อยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แล้วมีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้ว เป็นการไม่ชอบ ทั้งหากต่อไปในภายภาคหน้า จำเลยทั้งสองได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกเหนือจากวันเวลาตามฟ้องคดีนี้ กรณีก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองเป็นคดีใหม่อีกเรื่องหนึ่ง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อาจพิพากษาล่วงหน้าไว้ในคดีนี้ โดยสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ต่อไปที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยและพิพากษาว่า สุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทอีก 13 แปลง เป็นที่ธรณีสงฆ์อันเป็นสมบัติของโจทก์ และที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยและพิพากษาว่า สุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทอีก 13 แปลง เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยไม่เป็นที่ธรณีสงฆ์และไม่เป็นสมบัติของโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในรูปแบบต่างๆ แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในบางช่วงบางตอนจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของที่ดินพิพาท แต่โจทก์ก็มิได้มุ่งเน้นให้ศาลมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ดังจะเห็นได้จากโจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์และเป็นสมบัติของโจทก์ โดยโจทก์มีจุดประสงค์ที่จะขับไล่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา กับห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกิจการต่างๆ ของโจทก์เป็นสำคัญ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่าสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นหลักฐาน ส่วนที่ดินพิพาทแปลงอื่นเป็นที่ดินของสุสานทุ่งมนซึ่งไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็มิใช่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยถึงสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินสุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทแปลงอื่นไว้ในคำพิพากษา แต่คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับสุสานทุ่งมนก็ขัดแย้งแตกต่างกัน ประกอบกับปัจจุบันทางราชการได้ขึ้นทะเบียนที่ดินสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามสำเนาหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในชั้นนี้ การวินิจฉัยชี้ขาดถึงสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินสุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทแปลงอื่นซึ่งมิใช่ประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลภายนอกคดี จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ ทั้งไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกระจ่าง นอกจากนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง กรณีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ