คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6899/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ ส. เจ้าพนักงานของจำเลยเบิกความว่า คณะบุคคล ก. และ ว. เป็นหน่วยภาษีที่เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ร่วมกันถือหุ้นดังกล่าวนั้น ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้รับถือเป็นการรับแทนผู้ร่วมหุ้น เงินปันผลที่ได้รับจึงถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละคนผู้ร่วมในคณะบุคคลนั้น ก็ปรากฏจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในนามของคณะบุคคล ก. และ ว. ได้จ่ายเงินปันผลให้คณะบุคคลดังกล่าว และผู้จ่ายเงินปันผลได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายแล้ว โดยระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของคณะบุคคล ก. และ ว. ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้จ่าย เงินปันผลในระหว่างปีภาษี 2553 ให้แก่คณะบุคคล ก. และ ว. มิได้จ่ายเงินปันผลให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียวดังที่พยานจำเลยเบิกความ เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลตามมาตรา 40 (4) (ข) จากบริษัทต่าง ๆ ในปีภาษี 2553 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เกินกว่า 30,000 บาท คณะบุคคลจึงเป็นผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของคณะบุคคลจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก โดยผู้เป็นบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีอีกตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร คณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสองจัดตั้งขึ้นจึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อคณะบุคคลยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลที่ได้รับตามมาตรา 65 วรรคสอง โดยนำเงินปันผลที่ได้รับมาเครดิตภาษีตามวิธีการที่มาตรา 47 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้ แล้วมีภาษีที่ชำระเกิน จำเลยจึงต้องคืนภาษีแก่คณะบุคคล ก. และ ว.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 182,929.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ทั้งสองตกลงทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคลนายกำจรและนายวีระชัย มีวัตถุประสงค์ลงทุนฝากเงิน และซื้อขายหลักทรัพย์ร่วมกัน จำเลยได้ออกบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้คณะบุคคลดังกล่าวแล้ว ก่อนปีภาษีที่พิพาทกันในคดีนี้ เจ้าพนักงานของจำเลยเคยคืนเงินภาษีอากรให้คณะบุคคลดังกล่าวในกรณีเดียวกันมาแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 คณะบุคคลดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ปีภาษี 2553 แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 683,629 บาท มีเครดิตภาษีเงินปันผล 217,865.75 บาท คำนวณเป็นภาษีที่ต้องชำระ 103,298.95 บาท มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและเครดิต 286,228.65 บาท เมื่อคำนวณแล้วมีเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน และยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษี 182,929.70 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยไม่อนุมัติคืนเงินภาษีอากรให้คณะบุคคลและมีหนังสือที่ กค 0706.04/003704 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2554 แจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร คณะบุคคลดังกล่าวอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากร ต่อมาจำเลยแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่คืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า คณะบุคคลนายกำจรและนายวีระชัย มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2553 หรือไม่ เห็นว่า ที่นายสิทธิโชค เจ้าพนักงานของจำเลยเบิกความว่า คณะบุคคลนายกำจรและนายวีระชัย เป็นหน่วยภาษีที่เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ร่วมกันถือหุ้นดังกล่าวนั้น ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้รับถือเป็นการรับแทนผู้ร่วมหุ้น เงินปันผลที่ได้รับจึงถือเป็นเงินได้ของบุคคลแต่ละคนผู้ร่วมในคณะบุคคลนั้น ก็ปรากฏจากหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัดว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในนามของคณะบุคคล นายกำจร/นายวีระชัย โดยนายกำจร ได้จ่ายเงินปันผลให้คณะบุคคลดังกล่าว ตามจำนวนหน่วยของหลักทรัพย์ที่คณะบุคคลดังกล่าวถือหุ้นไว้ในขณะที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติให้จ่ายเงินปันผล และผู้จ่ายเงินปันผลดังกล่าวได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายแล้ว โดยระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับเงินได้ดังกล่าวว่าเป็นหมายเลข 2000335687 ซึ่งตรงกับหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของคณะบุคคล โดยนายกำจรและนายวีระชัย ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ทั้งสอง และผู้ลงนามในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว คือ นางนงราม นายทะเบียนของบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรองว่าข้อความและตัวเลขข้างต้นถูกต้องตรงกับความจริงทุกประการจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวด้านล่างมีร่องรอยแสดงให้เห็นว่ามีส่วนหนึ่งที่ถูกฉีกออกไปก็มีข้อความตรงกับสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของโจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงส่วนที่ถูกฉีกออกไปว่าเป็นคำสั่งของบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ดังกล่าว สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินปันผลจำนวนที่เหลือจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วให้แก่คณะบุคคล นายกำจร/นายวีระชัย โดยนายกำจร โดยการเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น (A/C PAYEE ONLY) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้จ่ายเงินปันผลในระหว่างปีภาษี 2553 ให้แก่คณะบุคคลนายกำจรและนายวีระชัย มิได้จ่ายเงินปันผลให้แก่นายกำจร เพียงคนเดียวดังที่นายสิทธิโชค พยานจำเลยเบิกความ เมื่อคณะบุคคลดังกล่าวเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้รับเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผล ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) จากบริษัทต่าง ๆ ในปีภาษี 2553 ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เกินกว่า 30,000 บาท คณะบุคคลดังกล่าวจึงเป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลคนเดียวไม่มีการแบ่งแยก โดยผู้เป็นบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีอีกตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมาตรา 47 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) ซึ่งได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษีโดยวิธีการตามวรรคหนึ่ง และมาตรา 47 ทวิ วรรคสอง บัญญัติให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย โดยมีข้อจำกัดในวรรคสามแต่เพียงว่า ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อคณะบุคคลที่โจทก์ทั้งสองจัดตั้งขึ้น มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ตามบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่จำเลยออกให้ คณะบุคคลดังกล่าวซึ่งมีเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรด้วย เมื่อคณะบุคคลนายกำจรและนายวีระชัย ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเงินปันผลที่ได้รับ ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำเงินปันผลที่ได้รับมาเครดิตภาษี ตามวิธีการที่มาตรา 47 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสองบัญญัติไว้แล้วปรากฏว่า มีภาษีที่ชำระไว้เกินจำนวน 182,929.70 บาท ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำ ปีภาษี 2553 จำเลยจึงต้องคืนภาษีที่ชำระเกินให้แก่คณะบุคคลดังกล่าว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินภาษีที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายเกินไปจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นั้น เห็นว่า มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้อธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น โดยเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร ข้อ 1 (1) (ก) แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง เมื่อโจทก์ขอให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง จึงพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 182,929.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่โจทก์ได้รับคืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share