แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) นั้น ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างต้องกระทำโดยรู้สำนึกของการกระทำว่าจะเกิดความเสียหายแก่นายจ้าง การที่นาง ศ. เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างนาง ศ. กับนางสาว ก. ที่นางสาว ก. เป็นบุตรสะใภ้ของนาง ศ. และบุตรชายของนาง ศ. ซึ่งเป็นสามีของนางสาว ก. ทำงานอยู่ในโรงงานอื่นที่โจทก์เห็นว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยไม่ปรากฏว่าได้นำความลับของโจทก์ไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกหรือมีข้อเท็จจริงอื่นใดว่านาง ศ. ได้กระทำการใดที่แสดงถึงความตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้จัดทำข้อห้ามที่ว่าผู้สมัครเข้าทำงานกับโจทก์จะต้องไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับโรงงานที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรปิดประกาศไว้และโจทก์อ้างว่ารับสมัครคนงานใหม่ที่เป็นญาติของคนงานที่ทำในปัจจุบันเพื่อให้คนงานเก่าอธิบายและแจ้งให้คนงานใหม่ทราบถึงกฎข้อบังคับโดยโจทก์ไม่ต้องอธิบายหรือประกาศให้คนงานใหม่ทราบ ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ใส่ใจเคร่งครัดใช้กฎข้อบังคับที่อ้างว่ามีอยู่ และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็ไม่ได้ระบุให้การไม่แจ้งความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานให้โจทก์ทราบเป็นความผิดแต่อย่างใด การที่นาง ศ. ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2548 ของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบกิจการโรงงานผลิตเครื่องใช้ทำด้วยหนัง เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 โจทก์จ้างนางศรีวรรณ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ช่างเย็บ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 140 บาท และข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 5 ปรากฏว่า ในช่วงปลายปี 2547 โจทก์ประกาศรับพนักงานเข้าทำงาน นางสาวกลอยใจ ได้สมัครเข้าทำงานและทำงานกับโจทก์จนถึงเดือนพฤษภาคม 2548 โจทก์จึงทราบว่านางสาวกลอยใจมีความสัมพันธ์เป็นบุตรสะใภ้ของนางศรีวรรณ โดยบุตรชายของนางศรีวรรณซึ่งเป็นสามีของนางสาวกลอยใจทำงานอยู่ที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ทำด้วยหนังแห่งอื่นซึ่งมีที่ตั้งใกล้กับโรงงานของโจทก์ โจทก์เกรงว่าการทำงานของนางสาวกลอยใจจะมีผลต่อการที่โรงงานดังกล่าวอาจลอกเลียนรูปแบบสินค้าที่โจทก์ผลิต จึงเลิกจ้างนางสาวกลอยใจแล้วโจทก์เห็นว่าการที่นางศรีวรรณปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนางศรีวรรณกับนางสาวกลอยใจเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามและเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจึงเลิกจ้างนางศรีวรรณ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า การที่นางศรีวรรณไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่านางศรีวรรณมีบุตรชายทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเครื่องใช้ทำด้วยหนังแห่งอื่นและไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่านางสาวกลอยใจเป็นบุตรสะใภ้ เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) เพื่อปกป้องคุ้มครองนายจ้าง ดังนั้นการกระทำใด ๆ ที่ลูกจ้างประสงค์จะให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างไม่ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นจริงตามความประสงค์ของลูกจ้างหรือไม่ และความเสียหายนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม มากหรือน้อยเพียงใด ก็เป็นความผิดแล้ว โจทก์รับงานจากต่างประเทศเพื่อผลิตเครื่องหนังมียี่ห้อซึ่งลูกค้าของโจทก์ได้ส่งงานให้แก่โรงงานโจทก์เพียงโรงงานเดียว พนักงานโจทก์จึงต้องระมัดระวังไม่ให้คู่แข่งของโจทก์เลียนแบบได้ เมื่อนางศรีวรรณฝ่าฝืนข้อบังคับอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าว จึงเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วนั้น เห็นว่า กรณีลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) นั้น ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างต้องกระทำโดยรู้สำนึกของการกระทำว่าจะเกิดความเสียหายแก่นายจ้าง การที่นางศรีวรรณเพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างนางศรีวรรณกับนางสาวกลอยใจที่นางสาวกลอยใจมีฐานะเป็นบุตรสะใภ้ของนางศรีวรรณ และบุตรชายของนางศรีวรรณซึ่งเป็นสามีของนางสาวกลอยใจทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเครื่องใช้ทำด้วยหนังแห่งอื่นที่โจทก์เห็นว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าโดยไม่ปรากฏว่าได้นำความลับของโรงงานไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกหรือมีข้อเท็จจริงอื่นใดว่านางศรีวรรณได้กระทำการใดที่แสดงถึงความตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งข้อที่โจทก์เห็นว่านางศรีวรรณกระทำผิดนี้ ก็ปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้จัดทำข้อห้ามนี้เป็นลายลักษณ์อักษรปิดประกาศไว้ในโรงงานและอ้างว่าโจทก์รับสมัครคนงานใหม่ที่เป็นญาติพี่น้องของคนงานที่ทำในปัจจุบันเพื่อให้คนงานเก่าได้อธิบายและแจ้งให้คนงานใหม่ทราบถึงกฎและข้อบังคับโดยโจทก์ไม่ต้องอธิบายหรือประกาศให้คนงานใหม่ทราบ ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้ใส่ใจเคร่งครัดใช้กฎข้อบังคับที่อ้างว่ามีอยู่แก่พนักงาน และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ข้อ 6 วินัยและโทษทางวินัย ก็ไม่ได้ระบุให้การไม่แจ้งความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานให้โจทก์ทราบเป็นความผิดแต่อย่างใด การที่นางศรีวรรณไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีบุตรชายทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเครื่องใช้ทำด้วยหนังแห่งอื่นและไม่ได้แจ้งความสัมพันธ์กับนางสาวกลอยใจในฐานะที่นางสาวกลอยใจเป็นบุตรสะใภ้จึงมิได้เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.