คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881-1885/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยได้ทำผิดจริง ศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ให้รอการลงโทษไว้ ถือว่าเป็นการแก้มาก โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218
จำเลยที่ 5 ได้สมคบกับจำเลยอีก 4 คนกระทำความผิดอันเป็นเหตุในลักษณะคดีตามประมวล ก.ม.อาญา มาตรา89 โทษที่ศาลอุทธรณ์วางแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นโทษเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด แม้จำเลยที่ 5 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้โทษจำเลยที่ 5 ได้ตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 213 เพราะเป็นคุณแก่จำเลย.

ย่อยาว

เรื่อง ทำร้ายร่างกาย
คดี ๕ สำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย นายซุยกวง กับพวก ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๔,๒๕๖,๖๓
จำเลยที่ ๑ – ๔ – ๕ ปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒ – ๓ ว่าได้ทำร้ายผู้เสียหายจริงแต่มิได้ใช้อาวุธและว่าบาดแผลไม่ถึงบาดเจ็บ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา ๒๕๖,๖๓ จำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๒ – ๓ อายุกว่า ๑๗ ปี แต่ไม่เกิน ๒๐ ปี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตาม ก.ม. ลักษณะอาญาแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ ม.๗ คงจำคุกจำเลยที่ ๓ คนละ ๑ ปี ๔ เดือน แต่สำหรับ นางมุ้ยจำเลย ที่ ๕ พิเคราะห์ตามเพศและการกระทำแล้ว ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๕ ปี ตาม ก.ม.ลักษณะ อาญา แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓
จำเลยที่ ๑,๒,๓,๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๔ คน ที่อุทธรณ์มาตามประมวล ก.ม.อาญา ม.๒๙๗,๘๓ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๑ ปี จำเลยที่ ๒,๓ อายุกว่า ๑๗ ปีแต่ไม่เกิน ๒๐ ปี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๕๘ ทวิ. คงจำคุกจำเลยที่ ๒,๓ คนละ ๕ เดือน ๑๐ วัน และให้รอการลงโทษจำเลยทั้ง ๔ คน ไว้มีกำหนด ๕ ปี ตามก.ม.ลักษณะ ม.๔๑ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมกฎมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๓
อัยการโจทก์และผู้เสียหายทั้งสี่ฎีกาว่า ไม่สมควรรอการลงโทษขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง ๔ ไปเลยทีเดียว
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีทั้ง ๕ นี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยได้ทำผิดจริง ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง ๔ แต่ศาลอุทธรณ์ให้รอการลงโทษไว้ เป็นการแก้มาก ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒๑๘ โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามฎีกาที่ ๑๐๐๔/๒๔๙๖
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ่จำเลยทำผิดจริง และไม่ควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
นางมุ้ย จำเลยที่ ๕ ได้สมคบกับจำเลยอีก ๔ คนกระทำความผิดอันเป็นเหตุในลักษณะคดี
ีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๙ โทษที่ศาลอุทธรณ์วางแก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นโทษเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด นางมุ้ย จำเลยที่ ๕ ควรได้รับประโยชน์นี้ด้วย แม้นางมุ้ย จำเลยที่ ๕ จะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ดี ศาลฎีกาแก้โทษ นางมุ้ย จำเลยที่ ๕ ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒๑๓เพราะเป็นคุณแก่จำเลย
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า ให้ลงโทษที่ศาลอุทธรณ์รอไว้นั้นแก่จำเลยทั้ง ๔ คนไปเลยทีเดียว
การแก้การลงโทษ นางมุ้ย จำเลยที่ ๕ ว่าเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๘,๘๓,๓ ให้วางโทษจำคุก ๑ ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ภายใน ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์.

Share