คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1583/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถ้าภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรได้ ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอากร ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกระทำได้2 ประการคือ ประการ ที่หนึ่ง เรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนรวมทั้งเรียกพยานบุคคล มาสอบคำให้การ กับประการที่สอง สั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานบุคคลนั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดง การใช้อำนาจประการที่หนึ่ง เจ้าพนักงานประเมินจะต้องออกหมายเรียกส่วนการใช้อำนาจ ประการที่สองเพียงแต่ทำเป็นคำสั่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลจำพวกห้างหุ้นส่วนจำกัด มี ข. เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและได้ชำระเงินภาษีสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2517-2520 ไว้แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 และ 123แห่งประมวลรัษฎากร ออกหมายเรียกให้หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ไปให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวน และส่งมอบบัญชีที่จะต้อง ทำและเอกสารอื่นอันควรแก่เรื่อง สำหรับระยะเวลาบัญชี ปี 2517-2521เพื่อตรวจสอบ ข. ได้นำสมุดบัญชีและ เอกสารดังกล่าวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยตลอดจนให้การ ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามนั้นแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณผลผลิตของโจทก์ตามคำให้การของ ข. แล้วเห็นว่าโจทก์ ได้ผลผลิตมากกว่าที่ลงในบัญชี เจ้าพนักงานประเมินจึง มีหนังสือถึง ข.แจ้งว่าการตรวจสอบได้เสร็จสิ้นแล้วมี กรณีจะต้องไต่สวน ข.บางประการ ขอให้ไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ 3 มีนาคม 2523แต่ปรากฏว่าในวันนั้นมิได้ มีการสอบคำให้การ ข.ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเตือน ให้ ข. ไปพบในวันที่ 12พฤษภาคม 2523 ข. ได้ไปให้การ ต่อเจ้าพนักงานประเมินในวันนั้นต่อมา สรรพากรเขต 8 มีหนังสือเชิญให้ข.ไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อรับทราบผล การตรวจสอบ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2523หากพ้นกำหนดไม่ไปพบ เจ้าพนักงานจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปข.มีหนังสือ ถึงสรรพากรเขต 8 ตอบไปว่า ไปพบไม่ได้เพราะติดนัดกับ แพทย์ และยืนยัน ข้อเท็จจริงที่ได้ให้การไว้กับ เจ้าพนักงานประเมินแล้วนั้น ต่อมาสรรพากรเขต 8 ได้มี หนังสือถึง ข. ว่าคำชี้แจงและเหตุผลของ ข. ยังไม่อาจหา ข้อยุติได้ ให้ ข. ไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อชี้แจงด้วยตนเองในวันที่ 27 มิถุนายน 2523ถ้าไม่ไปพบจะ ดำเนินการตามทางแห่งกฎหมายต่อไป ข. ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมิน ในวันดังกล่าว ดังนี้ แม้ เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ไป เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินใน วันที่ 9 และ 27 มิถุนายน2523 ก็ถือได้ว่าเป็นการประเมินแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัย พยานหลักฐานที่ปรากฏตาม มาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากรมิใช่เป็นการประเมินตามมาตรา 21 เพราะหนังสือทั้งสอง ฉบับดังกล่าวมิใช่หมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนหรือ คำสั่งให้นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดง ตาม มาตรา 19โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ จำเลย ชอบที่จะต้องรับอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ไว้พิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องใจความว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗, ๒๕๑๘,๒๕๑๙, ๒๕๒๐ และ ๒๕๒๑ ไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน๒๕๒๒ จำเลยส่งหมายเรียกให้โจทก์ไปให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารเพื่อตรวจสอบการเสียภาษี โจทก์ได้ส่งมอบเอกสารและไปให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยไต่สวนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ จำเลยได้ส่งหนังสือรวม ๔ ฉบับ แจ้งให้โจทก์ไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๒๐ เพิ่มเติม กับทั้งให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๒ แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๖,๗๙๖.๑๓ บาท การประเมินของจำเลยผิดไปจากความจริง กล่าวคือ จำเลยได้ประเมินว่าโจทก์ได้ซื้อมะพร้าวแห้งมาผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวออกจำหน่าย การผลิตน้ำมันมะพร้าวในรอบระยะเวลาบัญชีของแต่ละปี โจทก์จะได้กากมะพร้าวเป็นจำนวนร้อยละ ๓๗ ของจำนวนมะพร้าวแห้งทั้งหมด โดยคิดน้ำหนักเป็นกิโลกรัม ซึ่งความจริงการผลิตน้ำมันมะพร้าวของโจทก์ได้กากน้อยกว่าที่จำเลยประเมิน โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนผลผลิตที่เป็นกากมะพร้าวครบถ้วนและถูกต้องตามความเป็นจริง โจทก์ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มตามที่จำเลยแจ้งให้ทราบ จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่จำเลยไม่รับอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา ๒๑ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งความจริงโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินได้ เพราะโจทก์ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยด้วยดี กรณีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การประเมินดังที่จำเลยอ้าง ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗, ๒๕๑๘, ๒๕๑๙ และ ๒๕๒๐ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลย หากการเพิกถอนไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๒ เจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกให้โจทก์มาให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวนเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๒๑ ของโจทก์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม๒๕๒๒ โจทก์ได้มาให้การต่อเจ้าพนักงานประเมิน เจ้าพนักงานประเมินจึงได้คำนวณผลผลิตตามคำให้การของโจทก์ ปรากฏว่าไม่ตรงกับบัญชีที่โจทก์นำมาแสดง เมื่อวันที่๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ เจ้าพนักงานประเมินจึงเชิญโจทก์มาพบเพื่อทำการไต่สวนแต่โจทก์ไม่มาพบ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๓ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเตือนให้มาพบ ต่อมาวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์จึงมาให้การต่อพนักงานประเมิน ขอให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวนผลผลิตใหม่ โจทก์จะมารับทราบผลการตรวจสอบในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๓ พนักงานประเมินได้คำนวณผลผลิตใหม่ตามคำให้การของโจทก์และตรวจสอบกับบัญชีที่โจทก์เสนอมาในตอนแรกแล้ว ปรากฏว่าในระยะเวลาบัญชี พ.ศ. ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๒๑ มีกากมะพร้าวขาดบัญชีทุกปีซึ่งโจทก์ต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก ๓๖,๗๙๖.๑๓ บาท โจทก์ไม่มารับทราบผลการตรวจสอบตามนัด เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเชิญให้โจทก์มาพบเพื่อทราบผลการตรวจสอบ โจทก์ไม่มาพบเจ้าพนักงานประเมินเตือนไปอีก ๒ ครั้ง โจทก์ยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลสมควรเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีอากรตามที่เห็นว่าถูกต้องและแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มเติมอีก ๓๖,๓๙๖.๑๓ บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินนี้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๑ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ โจทก์จึงต้องเสียภาษีอากรเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ประเมินนั้นชอบแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนการประเมินหรือให้จำเลยรับอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฟ้องชอบและถูกต้อง โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๙แห่งประมวลรัษฎากรหาได้ไม่ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฟ้องจึงเป็นการประเมินตามมาตรา ๒๐ ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ได้ โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดตามกฎหมาย ที่จำเลยไม่รับอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ถูกต้องหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะปัญหานี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน พิพากษากลับเป็นว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗,๒๕๑๘, ๒๕๑๙ และ ๒๕๒๐ ยังไม่มีผลบังคับ โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลพวกห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีร้อยตรีขนบเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและได้ชำระเงินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗, ๒๕๑๘, ๒๕๑๙, และ ๒๕๒๐ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๙ และ ๑๒๓ แห่งประมวลรัษฎากรให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปให้ถ้อยคำประกอบการไต่สวนและส่งมอบบัญชีที่จะต้องทำเพื่อตรวจสอบในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ ปรากฏตามหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๒ เอกสารหมาย จ.๖ วันที่ ๑ตุลาคม ๒๕๒๒ ร้อยตรีขนบได้นำสมุดบัญชีและเอกสารสำหรับระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๗, ๒๕๑๘, ๒๕๑๙, ๒๕๒๐ และ ๒๕๒๑ ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยปรากฏตามใบรับบัญชีและเอกสารหมาย จ.๗ และในวันนั้นร้อยตรีขนบให้การต่อเจ้าพนักงานประเมิน ปรากฏตามคำให้การเอกสารหมาย ล.๑เจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณผลผลิตของโจทก์ตามคำให้การของร้อยตรีขนบเอกสารหมาย ล.๑ แล้วเห็นว่าโจทก์ได้ผลผลิตมากกว่าที่ลงในบัญชีเจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือถึงร้อยตรีขนบแจ้งว่าการตรวจสอบได้เสร็จสิ้นแล้วมีกรณีจะต้องไต่สวนร้อยตรีขนบบางประการขอให้ไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๓ แต่ปรากฏว่าในวันที่ ๓ มีนาคม๒๕๒๓ มิได้มีการสอบคำให้การร้อยตรีขนบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเตือนให้ร้อยตรีขนบไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม๒๕๒๓ ถ้าหากไม่ไปพบและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบจะทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ไปตามที่เห็นว่าถูกต้อง วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓ร้อยตรีขนบได้ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินต่อมาสรรพากรเขต ๘ มีหนังสือเชิญให้ร้อยตรีขนบไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อรับทราบผลการตรวจสอบในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๓ หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วร้อยตรีขนบไม่ไปพบ เจ้าพนักงานจะดำเนินการตามทางแห่งกฎหมายต่อไป ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๓ เอกสารหมาย จ.๑๒ ร้อยตรีขนบมีหนังสือถึงกรมสรรพากรเขต ๘ตอบหนัสือเอกสารหมาย จ.๑๒ ว่าไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ ๙ มิถุนายน๒๕๒๓ ไม่ได้เพราะจะต้องไปตรวจร่างกายและผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชตามกำหนดนัดของแพทย์ ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๓เอกสารหมาย จ.๑๓ ต่อมาสรรพากรเขต ๘ ได้มีหนังสือถึงร้อยตรีขนบว่าคำชี้แจงและเหตุผลของร้อยตรีขนบยังไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ร้อยตรีขนบไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อชี้แจ้งด้วยตนเองในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ ถ้าไม่ไปพบตามกำหนดดังกล่าวจะดำเนินการตามทางแห่งกฎหมายต่อไป ปรากฏตามหนังสือลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๓ เอกสารหมาย จ.๑๔ ร้อยตรีขนบไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๑๔ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ แจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์มายังโจทก์รวม ๔ ฉบับ ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่จำเลยไม่รับอุทธรณ์ อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๑ แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน
ที่จำเลยฎีกาว่า ในการไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์ไม่ประเมินโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสังของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินนั้นศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ถ้าภายในเวลาห้าปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอากรถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันสมควรเชื่อว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกระทำได้๒ ประการคือ ประการที่หนึ่ง เรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนรวมทั้งเรียกพยานบุคคลมาสอบคำให้การ กับประการที่สองสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานบุคคลนั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดง การใช้อำนาจประการที่หนึ่ง เจ้าพนักงานประเมินจะต้องออกหมายเรียก ส่วนการใช้อำนาจประการที่สองเพียงแต่ทำเป็นคำสั่ง คดีนี้ปรากฏว่า แม้เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ไปให้เจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือสรรพากรเขต ๘ เอกสารหมาย จ.๑๒ และ จ.๑๕ ก็หาใช่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ไปให้เจ้าพนักงานประเมินไต่สวนตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเอกสารหมาย จ.๖ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากรไม่ เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็ได้ไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียกดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ แล้ว อนึ่งปรากฏว่าหนังสือสรรพากรเขต ๘ เอกสารหมาย จ.๑๒ มีใจความว่า ให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อทราบผลการตรวจสอบในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๒๓ หากพ้นกำหนดนี้แล้วเจ้าพนักงานประเมินจะดำเนินการตามทางแห่งกฎหมายต่อไป หนังสือสรรพากรเขต ๘ เอกสารหมาย จ.๑๔ มีใจความว่า ตามที่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์แจ้งเหตุขัดข้องในการไปพบเจ้าพนักงานประเมินเพื่อทราบผลการตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๑๒ และยืนยันขอให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณผลผลิตของโจทก์ใหม่นั้นคำชี้แจงและเหตุผลของหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมินในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ หากพ้นกำหนดนี้แล้วไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินจะดำเนินการตามทางแห่งกฎหมายต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวมิใช่หมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน หรือคำสั่งให้นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามมาตรา ๑๙ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นเมื่อหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ไปพบเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ไป จึงมิใช่เป็นการประเมินตามมาตรา ๒๑แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นการประเมินแก้จำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏตามมาตรา ๒๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ต้องเสียภาษีอากรมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฟ้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จำเลยสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๖๐๐ บาท แทนโจทก์

Share