แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า ‘ห่า’ ไว้ว่า เป็นชื่อผีจำพวกหนึ่ง ถือกันว่าทำให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรง เมื่อจำเลยนำคำว่า’ไอ้ห่า’ มาใช้เป็นคำด่าโจทก์ จึงเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า มิใช่เป็นเพียงใช้คำไม่สุภาพ ผรุสวาจาหรือคำอุทาน (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2220/2518)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชี้หน้าตะโกนด่าโจทก์ต่อหน้าธารกำนัลว่า “ไอ้ห่า”และพูดต่อไปว่า “มึงลุกมาทำไมวะ ให้นั่งอยู่ที่โน่น” ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๓
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่จำเลยด่าโจทก์ต่อหน้าว่า “ไอ้ห่า” และพูดต่อไปด้วยว่า “กูให้มึงนั่งอยู่ที่โน่น มึงลุกมาทำไม” เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๓ หรือไม่ เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ให้ความหมายของคำว่า “ห่า” ไว้ตอนหนึ่งว่า เป็นชื่อผีจำพวกหนึ่งถือกันว่าทำให้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงเช่นโรคลงราก เมื่อจำเลยนำมาใช้ในลักษณะเป็นคำด่าโจทก์จึงไม่แตกต่างไปจากการด่าว่า “อีสัตว์” ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒๐/๒๕๑๘ ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์นางนิตยา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา โจทก์ร่วม นายอรพงษ์ โพธิ์ปั้น จำเลย ว่าเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า จำเลยคดีนี้นำคำว่า “ไอ้ห่า” มาใช้เป็นคำด่า จึงไม่ใช่เป็นเพียงใช้คำไม่สุภาพ ผรุสวาจาหรือคำอุทานอย่างจำเลยฎีกา ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน