คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สถาบันการบินพลเรือนจำเลยพิจารณารับโอนพนักงานหรือลูกจ้างของ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ สบพ. โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้ และวรรคสอง บัญญัติว่าการโอนลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง บทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยได้โอนมาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535สัญญาจ้างระหว่างศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยกับโจทก์ได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ก็ได้รับเงินบำเหน็จจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์โอนมาทำงานกับจำเลยจึงเป็นสัญญาว่าจ้างใหม่ต่างหากจากสัญญาเดิม และโดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้นับอายุงานโจทก์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้น สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยกับ โจทก์จึงต้องเป็นไปตามสัญญาว่าจ้างใหม่และเริ่มต้นนับอายุงานใหม่ เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจึงต้องนำระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 มาใช้บังคับ โจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบดังกล่าวด้วย ซึ่งระเบียบดังกล่าวไม่ได้ กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จในกรณีเลิกจ้างโจทก์เอาไว้ โจทก์มิใช่ลูกจ้างของส่วนราชการ จึงไม่อาจนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงอ้างว่ามีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 มิได้ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 38 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้เพื่อให้สิทธิและ ประโยชน์ต่าง ๆ ของโจทก์ที่จะพึงได้รับจาก สถาบันการบินพลเรือนในระหว่างที่โจทก์ยังไม่ได้รับการบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจากผู้ว่าการไม่น้อยกว่า ที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่เป็นลูกจ้างของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเท่านั้นหาได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ที่โจทก์เคยได้รับอยู่ก่อนมาคิดคำนวณ ด้วย และเมื่อไม่มีระเบียบหรือบทกฎหมายใดให้สิทธิ โจทก์เรียกร้องเงินบำเหน็จได้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2527 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2536 โจทก์ได้โอนมาเป็นลูกจ้างจำเลยพร้อมกับนับอายุงานต่อเนื่อง วันที่ 6 พฤษภาคม 2536 ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยได้จ่ายเงินบำเหน็จเหตุออกจากงานเพราะการโอนดังกล่าวเป็นเงิน 119,525 บาทแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2538 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุ จำเลยต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์นอกเหนือจากที่เคยได้รับมาแล้วดังกล่าวข้างต้นอีกเป็นเงิน 50,800 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 50,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง เพราะโจทก์เป็นพนักงานที่รับโอนมาจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย และได้เกษียณอายุก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2538 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 และตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 นั้น เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สบพ. (จำเลย) พิจารณารับโอนพนักงานหรือลูกจ้างของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยกรมการบินพาณิชย์ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ สบพ. โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แต่จะแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้และวรรคสองบัญญัติว่า การโอนลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าการที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยได้โอนมาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 สัญญาจ้างระหว่างศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยกับโจทก์ได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ก็ได้รับเงินบำเหน็จจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์โอนมาทำงานกับจำเลยจึงเป็นสัญญาว่าจ้างใหม่ต่างหากจากสัญญาเดิม โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้นับอายุงานโจทก์ต่อเนื่องกัน ฉะนั้น สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงต้องเป็นไปตามสัญญาว่าจ้างใหม่และเริ่มต้นนับอายุงานใหม่ เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจต้องนำระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534มาใช้บังคับ โจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของระเบียบดังกล่าวด้วยซึ่งระเบียบดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จในกรณีเลิกจ้างโจทก์เอาไว้ด้วย และที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 นั้น ก็เห็นว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของส่วนราชการจึงไม่อาจนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับแก่โจทก์ได้
ส่วนที่โจทก์อ้างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง เพื่อให้ได้สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่ก่อนมาคิดคำนวณด้วยนั้นเห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยสิ้นสุดลงแล้ว บทมาตราดังกล่าวคงกำหนดไว้เพื่อให้สิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ของโจทก์ที่จะพึงได้รับจากสถาบันการบินพลเรือนในระหว่างที่โจทก์ยังไม่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจากผู้ว่าการไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ในขณะที่เป็นลูกจ้างของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเท่านั้นหาได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ดังที่โจทก์อ้างไม่ เมื่อไม่มีระเบียบหรือบทกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์เรียกร้องเงินบำเหน็จได้จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามฟ้อง”
พิพากษายืน

Share