คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2133/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตามฟ้องและคำให้การจำเลย ฟังได้เพียงว่าจำเลยมีแอลกอฮอล์ตามฟ้องไว้จริง ศาลจะงดสืบพยานโจทก์และตัดสินว่าจำเลยไม่มีผิดหาได้ไม่
เพื่อที่จะฟังว่า จำเลยมีผิดหรือไม่ จะต้องให้โจทก์สืบพยานว่าแอลกอฮอล์นั้นเมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา และจำเลยรู้ว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายและฟังพยานจำเลยต่อไป.

ย่อยาว

เรื่อง มีแอลกอฮอล์ไม่รับอนุญาต
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีแอลกอฮอล์ เมื่อได้ผสมกับน้ำธรรมดาแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษ
จำเลยรับว่ามีแอลกอฮอล์ตามที่โจทก์ฟ้องจริง แต่เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ มีไว้ผสมสี จะเป็นสุราหรือเปล่า จำเลยไม่ทราบ
ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์ว่าแอลกอฮอล์ของกลางจะมีน้ำผสมหรือไม่ ๆ ยืนยัน โจทก์จะขอสืบพยานว่าเมื่อผสมกับน้ำแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา และจำเลยรู้แล้วว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นผิดต่อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยาน เห็นว่าจำเลยมีแอลกอฮอล์ล้วน ดังข้อต่อสู้ของจำเลยว่าเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ โจทก์ไม่ยืนยันว่ามีน้ำปนอยู่ ทั้งจำเลยก็ต่อสู้ว่าไม่ได้ผสมน้ำหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยไม่มีความผิด ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แอลกอฮอล์ล้วนนี้เป็นสุรา เพราะมีดีกรีสูง เมื่อเติมน้ำหรือของเหลวเจือปนลงไปแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา ขอให้สั่งศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การ ฟังได้ว่า จำเลยมีแอลกอฮอล์ตามฟ้องไว้จริง ตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ปีที่ ๔ ว่า “สุรา” หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้ว สามารถดื่มดินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา โจทก์จึงจะต้องนำสืบว่า เมื่อนำแอลกอฮอล์ของกลางไปผสมกับน้ำแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา นอกจากนั้นโจทก์จะต้องนำสืบตาม พ.ร.บ. สุรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๖ อีกว่า จำเลยรู้ว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนกฎหมายคือฝ่าฝืนมาตรา ๕ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเลยปฏิเสธ จำเลยรับแต่เพียงว่า จำเลยมีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เท่านั้น ๆ โดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า ให้ฟังพยานโจทก์จำเลยต่อไป
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๔๓,๒๔๗ และ ป.วิ.อาญามาตรา ๑๕.

Share