คำวินิจฉัยที่ 15/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี สาขาอู่ทอง ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ และกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ ๑๓ ไร่ ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทเนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองต่อเนื่องมาจากเจ้าของเดิมและปัจจุบันมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินดังกล่าวแล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีคำสั่งรับคำขอออกโฉนดที่ดินและให้ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินตามคำขอทั้งแปลงและให้ชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดินและเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๑๑๘๒/๒๕๐๖ ซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินจากที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่ยังมอบให้ทบวงการเมืองจัดหาประโยชน์ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรับคำขอออกโฉนดที่ดินได้ เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ที่ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ๑๑๘๒/๒๕๐๖ ออกทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง นอกจากนี้ปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินจากที่ทำเลเลี้ยงสัตว์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ในท้องที่ดังกล่าวแล้ว ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของรัฐอีกต่อไป จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือยังคงเป็นที่ดินของรัฐแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินฯ แล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ส่วนคำขอเรียกค่าเสียหายนั้น เป็นเพียงคำขอเกี่ยวเนื่องกับคำขอหลักในการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share