คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17822/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าโดยสำแดงราคาของในใบขนสินค้า 40,446.57 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าราคาต่ำไปจึงให้เพิ่มราคาเป็น 159,228.63 บาท จำเลยที่ 1 ก็ระบุราคาของเพิ่มไว้ในใบขนสินค้าแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 5 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรเพิ่ม โดยคิดอัตราร้อยละ 40 ของราคา 40,446.57 บาทแทนที่จะใช้ราคา 159,228.63 บาท ย่อมเห็นได้ว่าเหตุที่จำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขาดจำนวนไปตามที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีนี้นั้น เกิดจากกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์คิดค่าอากรจากฐานราคาสินค้าผิดพลาด มิใช่เหตุจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงราคาของผิดพลาด สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 78,396.45 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่มจำนวน 47,513 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 78,396.45 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรที่ต้องเสียเพิ่มจำนวน 47,513 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 มิถุนายน 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกค่าอากรที่ขาดตามฟ้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ อันเป็นที่มาของการฟ้องเรียกค่าอากรที่ขาดในคดีนี้ เริ่มตั้งแต่การที่จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 โดยสำแดงราคาของในใบขนสินค้าเป็นเงิน 40,446.57 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เห็นว่าราคาต่ำไปจึงให้เพิ่มราคาเป็น 159,228.63 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมโดยมีการระบุราคาของเพิ่มเป็นจำนวน 159,228.63 บาท ไว้ในใบขนสินค้าดังกล่าวแล้ว ตามใบขนสินค้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็คิดค่าอากรอัตราร้อยละ 5 จากราคาของ 159,228.63 บาท จำเลยที่ 1 ก็ชำระแล้ว ครั้นต่อมาเดือนกันยายน 2545 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 5 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรเพิ่ม โดยคิดอัตราร้อยละ 40 ของราคาของ แต่กลับไปคิดจากจำนวนราคาของขณะนำเข้าคือราคา 40,446.57 บาท แทนที่จะใช้ราคา 159,228.63 บาท จำเลยที่ 1 ก็ยินยอมชำระให้ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเหตุที่จำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขาดจำนวนไปตามที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีนี้นั้น เกิดจากกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์คิดค่าอากรจากราคาสินค้าอันเป็นฐานในการคำนวณอากรขาเข้าผิดพลาด ทั้งที่ตัวเลขราคาที่โจทก์ยืนยันว่าถูกต้องจำนวน 159,228.63 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับไว้แต่แรกก็ปรากฏอยู่ในใบขนสินค้าดังกล่าวแล้ว เหตุที่โจทก์คิดค่าอากรขาดไปเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เหตุจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงราคาของผิดพลาดแต่เกิดจากการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ใช้จำนวนราคาสินค้าผิดจากจำนวนที่ปรากฏอยู่แล้วเอง ซึ่งราคาสินค้าดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ใช้ในการคิดคำนวณจำนวนเงินอากรขาเข้าจนทำให้คำนวณได้ผิดพลาดไป จึงเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์คำนวณจำนวนอากรผิดนั่นเอง ทั้งตามฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระอากรขาเข้าขาดเกิดจากการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อจำเลยที่ 1 นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ซึ่งเกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่ชำระหนี้ค่าอากรตามฟ้องได้ และย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้เช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการอื่นจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share