แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ช. ขายที่ดินคืนให้โจทก์เนื่องจากโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 1 และมีการไกล่เกลี่ยจน ช. ตกลงโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์โดยให้โจทก์ชำระเงิน 300,000 บาท แต่โจทก์ไม่สามารถหาเงินได้ทัน จึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยเหลือหาเงินให้ โดยจะตอบแทนด้วยการโอนที่ดินให้จำนวน 3 ไร่ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าในการขายที่ดินพิพาทคืนโจทก์ดังกล่าว ช. กลับโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แทนการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นไปตามที่ ช. กับโจทก์และจำเลยที่ 1ที่ 2 ตกลงกัน การที่ ช. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ได้ แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของ ช. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องช. เป็นจำเลย ผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกคดีศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2145 (ที่ถูก 2045) ตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ระหว่างนายชัยเรืองวุฒิชัย ผู้ขาย กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ซื้อและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวกับคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสี่เข้าเกี่ยวข้องอีก
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2045 ตำบลในเมือง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ เดิมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และปรากฏหลักฐานทางทะเบียนตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ว่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2529 โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้นายชัย เรืองวุฒิชัย ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2529 นายชัยขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายชัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายจันทร์ อัคลา สามีโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ได้กู้ยืมเงินจากนายชัยจำนวน 150,000 บาท โดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทวางเป็นประกัน ต่อมานายชัยได้หลอกลวงโจทก์ให้ลงชื่อในเอกสารหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน นายชัยได้นำรถไถนาไถที่ดินพิพาท โจทก์จึงทราบว่าถูกนายชัยหลอกลวงปลอมแปลงเอกสารโอนที่ดินพิพาทเป็นของนายชัยโจทก์และนายจันทร์จึงไปแจ้งความต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไผ่ให้ดำเนินคดีแก่นายชัย ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับแจ้งความจากโจทก์หลังจากถูกโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จึงได้ทราบจากการสอบถามว่าร้อยตำรวจเอกเดชศักดิ์ อัมรินทร์ เป็นผู้รับแจ้งความเกี่ยวกับเรื่องที่นายชัยเข้าไปปรับปรุงที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานตำรวจเรียกนายชัยมาสอบถาม ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า โจทก์ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่นายชัย นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายอุ้ยภูหัตถการ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 นายอุ้ยได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อคัดค้านเรื่องโอนที่ดิน จำเลยที่ 3 เรียกนายอุ้ยไปพบแล้วจำเลยที่ 3 ได้เขียนเอกสารยกที่ดินพิพาทส่วนที่ทับที่ดินของนายอุ้ยเนื้อที่ 1 งาน 81 ตารางวา ให้นายอุ้ยตามเอกสารหมาย จ.8 นายอุ้ยเห็นจำเลยทั้งสี่กับโจทก์คุยกันอยู่ที่สำนักงานที่ดินด้วย ซึ่งฝ่ายจำเลยทั้งสี่ก็ยอมรับว่าในวันดังกล่าวนายอุ้ยไปที่สำนักงานที่ดิน คำเบิกความของนายอุ้ยจึงเป็นข้อยืนยันว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้พบกันแล้วตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2529 พยานโจทก์ที่ว่ามีการแจ้งความแก่จำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือขั้นตอนการซื้อที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 และราคาที่ดินพิพาทที่แท้จริง จำเลยทั้งสี่พยายามนำสืบว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 กับพวกไม่เกี่ยวกับโจทก์ โดยนำนายเหล็กมาเบิกความเป็นพยานว่า นายเหล็กเป็นนายหน้าแนะนำให้จำเลยที่ 2ซื้อที่ดินจากนายชัยแต่คำเบิกความของนายเหล็กซึ่งอ้างว่าเป็นนายหน้านั้นไม่อยู่กับร่องกับรอย นายเหล็กตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่าบ้านนายชัยเปิดเป็นร้านซ่อม แต่ไม่ทราบว่าซ่อมอะไรเพราะไม่เคยไปที่บ้านนายชัยที่ดินที่ขายไม่มีบ้านปลูกอยู่ ช่วงปี 2529 ขายไร่ละไม่เกิน 10,000 บาทซึ่งนายเหล็กคิดว่าเป็นราคาปกติ แต่คนอื่นบอกว่าแพง แสดงว่า นายเหล็กไม่เคยไปบ้านนายชัยและไม่รู้จักหรือไม่เคยไปที่ที่ดินพิพาท จึงไม่รู้ว่าในที่ดินพิพาทมีบ้านโจทก์ปลูกอยู่ อีกทั้งนายเหล็กยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไม่ว่าจะเป็นจำนวนเนื้อที่หรือราคาที่ดินพิพาทนายเหล็กจึงได้เบิกความว่าที่ดินพิพาทขายไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงไม่น่าเชื่อว่านายเหล็กเป็นนายหน้าขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ข้ออ้างว่านายเหล็กเป็นนายหน้าจึงเป็นพิรุธ สำหรับเรื่องราคาที่ดินนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 สำเนาโฉนดที่ดินและสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 และ 5 และ ล.6 ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ในราคา 350,000 บาท แต่สามารถจำนองธนาคารในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 2 ตุลาคม 2529 เป็นเงินจำนวน 460,000 บาท ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2530 จำนองธนาคารเป็นเงินจำนวน 650,000 บาท และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2531 จำนองธนาคารเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท แสดงว่าที่ดินพิพาทน่าจะมีราคาสูงกว่าราคาซื้อขายระหว่างนายชัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มาก จึงสามารถจำนองธนาคารได้เป็นเงินจำนวนสูงดังกล่าวแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าในปี 2534 ได้ประกาศขายที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ 250,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าในปี 2529 ที่ดินพิพาทมีราคาใกล้เคียงกับไร่ละ 250,000 บาท มากกว่าไร่ละ 20,000 บาทถึง 30,000 บาท ทำให้น่าเชื่อว่าเป็นการขายที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์มากกว่าการซื้อขายธรรมดาอีกประการหนึ่ง หากเป็นการซื้อขายกันปกติธรรมดาระหว่างนายชัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว ก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อนจะกู้เงินธนาคารโดยเสียดอกเบี้ยมาซื้อที่ดินให้โจทก์อยู่เปล่า ๆ โดยไม่คิดค่าเช่าเป็นเวลาหลายปีและมิได้ทำหลักฐานใด ๆ ไว้เลย อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการสอบถามหรือตกลงเกี่ยวกับผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินที่ซื้อขายกัน และข้อเท็จจริงยังไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นผู้ร่วมซื้อที่ดินกับจำเลยที่ 2 เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้มาเบิกความสนับสนุนส่วนจำเลยที่ 3 ก็เบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอย ตอนแรกว่าซื้อรวมทั้งบ้านโจทก์ แต่กลับตอบทนายความจำเลยทั้งสี่ถามติงว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นการซื้อเฉพาะที่ดิน ไม่ได้ซื้อบ้านของโจทก์ด้วย นอกจากนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะเอาเงินจำนอง 1,000,000บาท ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งผิดวิสัยของผู้เป็นเจ้าของร่วม ยิ่งกว่านั้น หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายชัยโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 3 จะลงชื่อยกที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 งาน 81 ตารางวาให้แก่นายอุ้ยตามเอกสารหมาย จ.8 การยกให้ดังกล่าวซึ่งมีลักษณะรีบร้อนส่อแสดงพิรุธว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องการให้นายอุ้ยคัดค้านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เพราะหากมีการคัดค้านโจทก์ต้องทราบเรื่องที่เกิดขึ้นและคัดค้านการโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พฤติการณ์ต่าง ๆ ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วมีเหตุผลเชื่อได้ว่า นายชัยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในราคา350,000 บาท แต่เป็นการขายที่ดินคืนให้โจทก์เนื่องจากโจทก์ไปร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 1 และมีการไกล่เกลี่ยจนนายชัยตกลงโอนที่ดินพิพาทคืนโจทก์โดยให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แต่โจทก์ไม่สามารถหาเงินได้ทันจึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยเหลือหาเงินให้ โดยจะตอบแทนด้วยการโอนที่ดินให้จำนวน 3 ไร่ สรุปแล้วพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ คดีฟังได้ว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทจากนายชัยมิได้เป็นไปตามที่นายชัยกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงกัน การที่นายชัยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายชัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หรือติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ได้ แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของนายชัยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องนายชัยเป็นจำเลย ผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกคดีได้ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ