คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 759/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 สำเนาข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าได้มีการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วยื่นคำขอรับเงินค่าชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้นต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1ที่หลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 6 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้
เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องชดใช้จำนวนเงินตามบัตรภาษีที่พิพาทและตกเป็นผู้ผิดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ต้องรับผิดในมูลหนี้อันเป็นลาภมิควรได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 สุจริต จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จะต้องคืนเงินหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยภาษีอากร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีจำเลยที่ 7 ถึงที่ 12 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1ได้บังอาจสำแดงเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกว่าได้จัดส่งสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรไทยจำหน่ายออกไปยังต่างประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ผ่านทางด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โดยมีเจตนาฉ้อโกงค่าชดเชยภาษีอากรและได้แสดงขอรับค่าชดเชยไว้ในใบขนสินค้าขาออกข้างต้นทุกฉบับ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำใบขนสินค้าขาออก (ฉบับมุมน้ำเงิน) ไปยื่นประกอบคำขอรับค่าชดเชยภาษีอากรต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ เพื่อหลอกลวงให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออกสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกนั้นไปนอกราชอาณาจักรแล้วและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยภาษีอากรในอัตราร้อยละ 6.74 ของราคาส่งออกอันเป็นความเท็จและเจ้าพนักงานของโจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งออกจริงตามที่ได้มีการสำแดงเท็จนั้น จึงจ่ายค่าชดเชยภาษีอากรเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ระบุในคำร้องขอว่าให้ออกบัตรภาษีในนามของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 รวมยอดค่าชดเชยภาษีอากร 730,337.87 บาท ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2533 เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ทำการตรวจสอบการส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้นของจำเลยที่ 1 พบว่าไม่มีการส่งออกซึ่งสินค้าใด ๆ ตามใบขนสินค้าขาออกดังกล่าวไปยังประเทศสิงคโปร์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสำแดงเท็จเพื่อทุจริตฉ้อโกงค่าชดเชยภาษีอากร จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ไม่มีสิทธิในการรับโอนบัตรภาษีไปจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 รับบัตรภาษีไปจากโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในมูลหนี้จำนวน 273,628.10 บาทพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 7 ถึงที่ 12 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 6รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้จำนวน 275,372.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวในฐานะส่วนตัว โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสิบสองแล้วเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนบัตรภาษีหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงินตามราคาบัตรภาษีจำนวน 93,830.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม2532 จนถึงวันฟ้อง (ดอกเบี้ย 68,613.56 บาท) และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 คืนบัตรภาษี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงินตามราคาบัตรภาษีจำนวน 87,507.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2532 จนถึงวันฟ้อง (ดอกเบี้ย63,989.60 บาท) และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงินตามราคาบัตรภาษีจำนวน 273,628.10 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม2532 จนถึงวันฟ้อง (ดอกเบี้ย 200,090.55 บาท) และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 12 คืนบัตรภาษี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้เงินตามราคาบัตรภาษีจำนวน 275,372.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2532 จนถึงวันฟ้อง(ดอกเบี้ย 201,365.87 บาท) และนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสิบสองขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 1 ที่ 4ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนบัตรภาษีชนิดราคาและชนิดไม่กำหนดราคาที่ระบุจำนวนเงินชดเชยเป็นจำนวนเงิน 730,337.87 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จะต้องคืนบัตรภาษีหรือเงินตามจำนวนมูลค่าบัตรและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สำเนาข้อความอันเป็นเท็จไว้ในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าว่าได้มีการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกนั้น ต่อมาโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้รับโอนบัตรภาษีจากจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่หลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยเป็นบัตรภาษีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มิชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปของบัตรภาษีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน กรณีจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบ เงินชดเชยค่าภาษีอากรที่จ่ายในรูปบัตรภาษีจำนวน 730,337.87 บาท จึงเป็นลาภมิควรได้ มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการยื่นคำขอชดเชยค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 อันมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้รับไปซึ่งบัตรภาษีที่มีจำนวนเงินตามบัตรภาษี 730,337.87 บาท ซึ่งทางนำสืบของโจทก์ตามคำเบิกความของนายจรินทร์ ลิมปกาญจน์ นิติกรสำนักกฎหมายของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับบัตรภาษีจำนวน 93,830.50 บาทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 34จำเลยที่ 3 ได้รับบัตรภาษีจำนวน 87,507.14 บาท เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 145 จำเลยที่ 4ได้รับบัตรภาษีจำนวน 93,340.95 บาท 93,340.95 บาท และ86,946.20 บาท เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 วันที่ 17 พฤษภาคม2532 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2532 ตามลำดับ ตามเอกสารหมายจ.3 แผ่นที่ 82, 68 และ 51 ตามลำดับ และจำเลยที่ 6 ได้รับบัตรภาษีจำนวน 91,790.71 บาท 91,790.71 บาท และ 91,790.71 บาทเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 วันที่ 17 พฤษภาคม 2532 และวันที่ 22พฤษภาคม 2532 ตามลำดับตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 116, 101และ 131 ตามลำดับ และก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามไปยังจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 แล้วตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึง 8 มีตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 6 ไปพบโจทก์ แต่ไม่มีการคืนบัตรภาษีและเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้อง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสองขาดนัดยื่นคำให้การดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยทั้งสิบสองไม่สามารถจะคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ได้ เห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วและการที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวคืนบัตรภาษีชนิดราคาและชนิดไม่กำหนดราคาที่ระบุจำนวนเงินชดเชย730,337.87 บาท นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะบัตรภาษีมิได้อยู่ที่จำเลยที่ 1 แล้ว

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจำนวนเท่าใดและโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพียงใดข้อนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้รับสิทธิตามบัตรภาษีไปจากโจทก์ในฐานลาภมิควรได้ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ไม่สามารถร่วมกันคืนบัตรภาษีหรือชดใช้จำนวนเงินตามบัตรภาษีที่พิพาทจำนวน730,337.87 บาท โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการที่ไม่ได้รับบัตรภาษีที่พิพาทคืน และหากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ไม่สามารถคืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6ต้องชดใช้จำนวนเงินตามบัตรภาษีที่พิพาท 730,337.87 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้จำนวนเงินตามบัตรภาษีที่พิพาท 730,337.87บาท จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ มีผลแต่วันที่ทำละเมิดหรือวันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกบัตรภาษีคืนจากจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เป็นมูลหนี้ลาภมิควรได้ และต้องชดใช้จำนวนเงินตามบัตรภาษีพิพาทที่จำเลยแต่ละคนรับไป เช่นนี้ เห็นว่าตามคำเบิกความของร้อยโทเทียนชัยตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3ถามค้าน ฟังได้ว่าบัตรภาษีที่จำเลยที่ 1 ขอให้ใส่ชื่อผู้โอนนั้น นอกจากจะมีคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วจะต้องมีหนังสือแสดงของผู้รับโอนว่าจะเป็นผู้รับโอนจากจำเลยที่ 1 เสนอต่อโจทก์ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จะต้องมีการติดต่อกับจำเลยที่ 1 มาก่อนที่จะมีการออกบัตรภาษี และเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 6 ก็ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจำเลยที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 รับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จะต้องคืนเงินหรือเวลาที่โจทก์เรียกคืนบัตรภาษี และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 4 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 4 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2แผ่นที่ 7 จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ1077(2) ประกอบด้วยมาตรา 1080 ส่วนจำเลยที่ 7 ถึง 12 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 6 ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2 ถึง 3 จำเลยที่ 7 ถึง 12 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ในหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า 93,830.50 บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 93,830.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ต้องไม่เกิน68,613.56 บาท และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า 87,507.14 บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 87,507.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 63,989.60 บาท และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า273,628.10 บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน273,628.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 200,090.55 บาท และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ถึง 12 คืนบัตรภาษีให้แก่โจทก์มูลค่า 275,372.13 บาท หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 275,372.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน201,365.87 บาท กับให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม10,000 บาท

Share