แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมสืบมรดกต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้ว ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639
เจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือโจทก์และจำเลย เมื่อจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกและบุตรของจำเลยรับมรดกแทนที่แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกเพียงกึ่งหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายทอง ศรีบุญเรือง และนางแพง ศรีบุญเรือง เป็นบิดามารดาของโจทก์กับจำเลย ต่อมานายทองและนางแพงได้รับนายชัยณรงค์ ศรีบุญเรือง บุตรของโจทก์เป็นบุตรของนายทองและนางแพงอีกคนหนึ่ง นายทองและนางแพงมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันโดยระบุชื่อในเอกสารสิทธิว่านางแพงเป็นเจ้าของ คือ ที่ดิน 6 แปลง นายทองถึงแก่ความตายเมื่อปี 2526 ส่วนนางแพงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมพินัยกรรมของนางแพงโดยระบุว่านางแพงยกทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก เนื่องจากนางแพงป่วยหนักและเมื่อนางแพงถึงแก่ความตายจำเลยกับพวกประทับลายพิมพ์นิ้วมือของนางแพงลงในพินัยกรรม พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2537 จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแพงเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 410/2537 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 และวันที่ 7 เมษายน 2538 จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่ 3 และที่ 1 ตามลำดับเป็นของตน จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางแพง ทรัพย์สินทั้งหมดของนางแพงจึงตกเป็นของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของนางแพง ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2536 เป็นโมฆะ และให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนางแพงในที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวโดยให้ที่ดินดังกล่าวตกแก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียว และให้เพิกถอนคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนางแพง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 410/2537 ของศาลชั้นต้น เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงที่ 3 และแปลงที่ 1 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยในฐานะส่วนตัว และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงที่ 10
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาเป็นว่า ให้พินัยกรรมของนางแพง ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2536 ตกเป็นโมฆะ และกำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนางแพง ศรีบุญเรือง ฐานเป็นผู้ไม่สมควร เฉพาะมรดกตามเอกสารหมาย จ. 1 และให้ที่ดินทั้ง 6 แปลง ตกแก่โจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนรับมรดกของจำเลยในที่ดินแปลงที่ 3 และที่ 1
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นพี่น้องกันโดยต่างเป็นบุตรของนายทองกับนางแพง นายทองถึงแก่ความตายเมื่อปี 2526 ส่วนนางแพงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 นางแพงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 6 แปลง
และพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 1 นั้นเป็นพินัยกรรมที่จำเลยกับพวกทำปลอมขึ้น จึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของนางแพงฐานเป็นผู้ไม่สมควร เฉพาะมรดกตามพินัยกรรมนั้นได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยมีบุตรเป็นผู้สืบสันดาน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยปลอมพินัยกรรมของนางแพงเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางแพงก็ตาม แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนางแพงย่อมสืบมรดกของนางแพงต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางแพงเจ้ามรดกมีบุตร 2 คน คือโจทก์และจำเลย เมื่อจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก และบุตรของจำเลยรับมรดกแทนที่ดังวินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกเพียงกึ่งหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงตกแก่โจทก์เพียงกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.