คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าตอบแทนข้อตกลงให้คำปรึกษาทางเทคนิคและบริการทางวิศวกรรมเป็นการตอบแทนการให้คำแนะนำให้การปรึกษาในกิจการต่างๆซึ่งตามสัญญามีหลายประเภทบางประเภทเช่น การเงิน การบัญชีและการตลาด เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ประเภทค่าแห่งสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น แม้จะฟังว่าค่าตอบแทนตามสัญญานั้นมีค่าแห่งสิทธิรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อไม่อาจจะแยกได้ว่าเงินได้ประเภทค่าแห่งสิทธิมีเป็นจำนวนเท่าใดการที่กรมสรรพากรจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษี โดยถือว่าค่าตอบแทนทั้งหมดตามสัญญาเป็นค่าแห่งสิทธิ จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างบริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จอินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการทางวิศวกรรมในเรื่องต่าง ๆการวางแผน การเงิน การก่อสร้าง การฝึกอบรม การค้นคว้า ตลอดถึงการปฏิบัติการของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล สายโทรศัพท์ สายลวด และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดแก่โจทก์มีระยะเวลา 10 ปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วมีสิทธิต่อสัญญาออกไปได้อีก 10 ปี โดยโจทก์จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินปีละ 18,000 เหรียญสหรัฐ กับค่าบริการอีกในอัตราร้อยละ 2.5 ของยอดขายสุทธิในแต่ละปี ระหว่างปี 2521 ถึง 2524โจทก์ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนตามสัญญารวม 56,477,124.77 บาท ซึ่งโจทก์ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายโดยถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา40(6) แห่งประมวลรัษฎากรนำส่งจำเลยกับได้ชำระภาษีให้จำเลยเพิ่มเติมตามที่สรรพากรจังหวัดสมุทรปราการได้ประเมินโดยถือว่าเงินค่าตอบแทนดังกล่าวมีเงินได้ตามมาตรา 40(2) รวมอยู่ด้วยเป็นเงิน 10,715,188.96 บาท เจ้าพนักงานสรรพากรเขต 2จังหวัดชลบุรีได้ทำการตรวจสอบภาษีของโจทก์แล้วมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 ถึงปี 2524 เพิ่มเติมให้จำเลย 5,468,361.59บาท อ้างว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการเห็นว่าเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นค่าแห่งสิทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา40(3) มิใช่เงินได้ตามมาตรา 40(2) (6) คงให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมรวม 5,451,818.56 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) ไม่ใช่ 40(3) หากศาลเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามที่มีการประเมิน ก็ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มให้โจทก์ด้วยเพราะโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนการประเมินของสำนักงานสรรพากรเขต 2 ชลบุรี กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่กล่าวข้างต้นเสีย
จำเลยให้การว่า สัญญาตามฟ้องเป็นเรื่องที่บริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จอินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ให้ข้อมูลสูตรกรรมวิธีในการผลิตเริ่มแต่ต้นจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยโจทก์ต้องให้ค่าตอบแทนในอัตราที่แน่นอน ไม่คำนึงถึงจำนวนครั้งที่ได้รับบริการจึงเป็นการให้บริการในลักษณะที่เป็นค่าแห่งสิทธิตามมาตรา 40(3)แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์รู้ดีว่าค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่โจทก์กลับจงใจหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 40 เป็นการแสดงเจตนาหลบเลี่ยงภาษี ไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะได้เสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรจังหวัดสมุทรปราการประเมินแล้ว เจ้าพนักงานประเมินสำนักงานสรรพากรเขต 2 ชลบุรี ก็ย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ตามที่เห็นว่าถูกต้องได้ ทั้งนี้ตามที่มาตรา 19, 20 แห่งประมวลรัษฎากรให้อำนาจไว้ การที่จะพิจารณาว่าค่าตอบแทนตามสัญญาให้คำปรึกษาทางเทคนิคเป็นเงินได้ประเภทใดนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่าการได้เงินได้ประเภทนั้น ผู้มีเงินได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะที่ประมวลรัษฎากรแบ่งประเภทเงินได้ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ก็เพื่อประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ในการทำงานให้โจทก์ตามสัญญานั้น เห็นได้ว่าบริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเห็นว่าค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทนั้นเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) ที่ได้มาจากการประกอบวิชาชีพอิสระวิศวกรรม หาใช่เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) ประเภทค่าแห่งสิทธิไม่การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มของสำนักงานสรรพากรเขต 2ชลบุรี ที่ 27 70/2/00813-6 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2526 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ กค.0842/406ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2529 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม กำหนดเป็นค่าทนายความ 15,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า บริษัทโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการผลิตสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล สายโทรศัพท์และสายลวดเพื่อจำหน่ายโดยตกลงว่าจ้างบริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัดเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาและบริการทางวิศวกรรมในเรื่องต่าง ๆตั้งแต่จัดหาเงินทุนมาดำเนินกิจการ เครื่องจักรเครื่องมือที่จะใช้ในการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ทองแดงและอลูมิเนียม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทองแดงและอลูมิเนียม การสำรวจตลอดจนการปรับปรุงขยายโรงงานการวางรูปบัญชี การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับการผลิต ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทที่กล่าวแล้วเป็นเงินปีละ 18,000เหรียญสหรัฐ กับคิดค่าบริการจากยอดขายสุทธิให้อีกร้อยละ 2.5รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายสัญญาให้คำปรึกษาทางเทคนิค เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2521 ถึง 2524 โจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนตามสัญญาให้บริษัทเฟ้ลปส์ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนลคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 56,477,124.77 บาทซึ่งเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มเติมให้โจทก์คิดเป็นเงิน5,468,361.59 บาท โดยถือว่าเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า ค่าตอบแทนข้อตกลงให้คำปรึกษาทางเทคนิคข้างต้นเป็นเงินได้ประเภทค่าแห่งสิทธิตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่าค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าว เป็นการตอบแทนการให้คำแนะนำให้การปรึกษาในกิจการต่าง ๆซึ่งตามสัญญามีหลายประเภท บางประเภทเช่น การเงิน การบัญชี และการตลาด เห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่ใช่ประเภทค่าแห่งสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นแม้จะฟังว่าค่าตอบแทนตามสัญญานั้น มีค่าแห่งสิทธิรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อไม่อาจจะแยกได้ว่าเงินได้ประเภทค่าแห่งสิทธิมีเป็นจำนวนเท่าใด การที่จำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีโดยถือว่าค่าตอบแทนทั้งหมดตามสัญญาเป็นค่าแห่งสิทธิจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ คดีไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ อีก ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาคดีมา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยดังเหตุผลที่ยกขึ้นวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share