แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถา ผู้คัดค้านตั้งมาประมาณ 6 ปี มีทรัพย์สินประมาณ20 ล้านบาท เคยบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการกุศลต่าง ๆ รวมทั้งสร้างอาคารเรียนแต่ผู้คัดค้านทำบัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ประจำปีเพียงปีเดียวแล้วไม่เคยทำอีกเลย และอ้างว่าได้ดำเนินการโดยสุจริตตลอดมา เห็นว่า บัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ประจำปีของผู้คัดค้านเป็นวิธีการหนึ่งหรือมาตรการหนึ่งที่จะตรวจสอบถึงการดำเนินการและรายได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและตราสารในการตั้งมูลนิธิหรือไม่ เมื่อผู้คัดค้านมิได้กระทำเช่นนี้แล้วจะตรวจสอบและทราบได้อย่างไร ดังนั้นการกระทำและพฤติการณ์การหารายได้ของผู้คัดค้านที่ทำการเรี่ยไรโดยขายดอกไม้และภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 จึงเป็นการหาทรัพย์สินโดยนอกเหนือจากบทบัญญัติ ข้อ 6 ในหมวด 3และเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ข้อ 45 ของตราสารของผู้คัดค้าน กรณีต้องด้วยมาตรา 93 (3)แห่ง ป.พ.พ. เดิม ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เลิกมูลนิธิผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถาแล้วโอนทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิไปยังมูลนิธิฮั่วเคี้ยวปอเต็กเซียงตึ้ง ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามที่ระบุในตราสารจัดตั้ง และแต่งตั้งให้นายปกรณ์ สิทธิกรไพศาล เป็นผู้ชำระบัญชี
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า มิได้ดำเนินการขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และมิได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในตราสารจัดตั้งมูลนิธิและข้อไขของรัฐบาลซึ่งให้อำนาจไว้ รวมทั้งไม่มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในตราสารจัดตั้งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิสงเคราะห์เด็กอนาถา ให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิให้แก่มูลนิธิฮั่วเคี้ยวปอเต็กเซียงตึ้ง (ปอเต็กตึ้ง) และให้ตั้งให้นายปกรณ์ สิทธิกรไพศาล เป็นผู้ชำระบัญชี
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา ๙๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ซึ่งใช้ขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการ หรือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนได้เสียด้วยยื่นคำร้องต่อศาล ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธินั้นเสีย และตั้งแต่งผู้ชำระบัญชีคนหนึ่งหรือหลายคน ในกรณีที่กล่าวต่อไปนี้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ คือ
(๑) ถ้ามูลนิธินั้นได้ตั้งขึ้นขัดต่อบทบญญัติในส่วนนี้ หรือว่ามูลนิธินั้นทำการขัดต่อกฎหมายก็ดี หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ด้วยเหมือนกัน
(๒) ฯลฯ
(๓) ถ้ามูลนิธิทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในตราสารตั้งมูลนิธินั้นเองหรือฝ่าฝืนข้อไขซึ่งรัฐบาลได้ให้อำนาจไว้
อนึ่ง ศาลจะสั่งถอดถอนผู้จัดการทั้งหลายและแต่งตั้งผู้จัดการขึ้นใหม่คนหนึ่งหรือหลายคนแทนสั่งเลิกมูลนิธิก็ได้
นอกจากนี้ตราสารของมูลนิธิผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.๓ หมวด ๓ ว่าด้วยทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ข้อ ๖ บัญญัติตราไว้ว่า “มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
๒.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
๒.๒ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
๒.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
อีกประการหนึ่ง ข้อ ๔๕ แห่งตราสารเอกสารหมาย ร.๓ ดังกล่าวบัญญัติตราไว้ว่า “มูลนิธิจะต้องไม่กระทำการค้ากำไร และจะต้องไม่ดำเนินการนอกเหนือไปจากตราสารที่กำหนดไว้” ดังนี้ การที่ผู้คัดค้านให้เจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านไปทำการเรี่ยไรโดยขายดอกไม้และภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างปี ๒๕๓๐ – ๒๕๓๑ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ของเขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร ต้องตักเตือนห้ามไม่ให้ดำเนินการขายดอกไม้ ภาพถ่ายและภาพโปสการ์ดอีกและนายไก่เตี้ยยอมรับว่าจะไม่ทำการเรี่ยไรขายดอกไม้ภาพถ่ายและภาพโปสการ์ดดังกล่าวอีกโดยยอมรับถึงสองครั้งสองคราวปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๑๘ และ ร.๑๙ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลหลักสอง จับกุมพนักงานชาย ๒ คนและหญิง ๔ คน รวม ๖ คน ของผู้คัดค้านซึ่งทำการเรี่ยไรที่หมู่บ้านเศรษฐกิจเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครอีก ในข้อหาทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.๒๔๘๗ ปรับคนละ ๑๐๐ บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๒๖ ได้ความดังนี้ เห็นว่า ถึงแม้จะฟังได้ว่าผู้คัดค้านตั้งมาประมาณ ๖ ปี มีทรัพย์สินจำนวนประมาณ ๒๐ ล้านบาท และเคยบริจาคแก่ผู้ประสบภัยกับเคยบริจาคแก่การกุศลต่าง ๆรวมทั้งสร้างอาคารเรียนตามที่ผู้คัดค้านฎีกาก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่เคยทำบัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ของผู้คัดค้านประจำปีโดยทำเพียงปีเดียวโดยที่ผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่าดำเนินการมาโดยสุจริตตลอดมา การที่จะให้เชื่อถือตามที่อ้างจะต้องมีหลักฐานและพฤติการณ์ประกอบ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไร บัญชีงบดุลเกี่ยวกับทรัพย์สินรายได้ประจำปีของผู้คัดค้านเป็นวิธีการหนึ่งหรือมาตรการหนึ่งที่จะตรวจสอบถึงการดำเนินการและรายได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและตามตราสารในการตั้งมูลนิธิหรือไม่ แต่ผู้คัดค้านก็มิได้กระทำ ดังนั้น ระหว่างผู้คัดค้านดำเนินการอยู่นั้น หากเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านรับเงินบริจาคหรือเรี่ยไรได้เงินมาจำนวน ๕๐ ล้านบาทแต่ใช้จ่ายนอกวัตถุประสงค์ของผู้คัดค้านเสีย ๓๐ ล้านบาท เช่นนี้ จะตรวจสอบและรู้ได้อย่างไรการกระทำและพฤติการณ์การหารายได้ดังกล่าวแล้วของผู้คัดค้าน กรณีเป็นการหาทรัพย์สินโดยนอกเหนือจากบทบัญญัติ ข้อ ๖ ในหมวด ๓ และเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในตราสารของบทบัญญัติข้อ ๔๕ของตราสารของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.๓ จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๙๓ (๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เลิกมูลนิธิผู้คัดค้านเสียได้
พิพากษายืน.