คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ต้องระวางโทษประหารชีวิต การคำนวณโทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตอย่างใดกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ จึงต้องนำ ป.อ. มาตรา 52 (2) มาใช้ในการกำหนดโทษ โทษกึ่งหนึ่งที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คือ โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึงห้าสิบปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามเป็นจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน นั้น เป็นการลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23, 33, 80, 83, 91, 135/1, 135/2, 209, 210, 213, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายพุฒ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท
จำเลยทั้งห้าให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 33 ปี 10 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กับให้ยกคำขอในส่วนแพ่งของผู้เสียหาย ริบอาวุธปืน หัวกระสุนปืน และกระสุนปืนของกลาง (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยกด้วย)
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้และโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 33 ปี 4 เดือน เป็นการลงโทษเกินกว่าโทษที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ … ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ต้องระวางโทษประหารชีวิต การจะคำนวณโทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตอย่างใดนั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (2) มาใช้ในการกำหนดโทษ โทษกึ่งหนึ่งที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 คือ โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบปีถึงห้าสิบปี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามเป็นจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน นั้น เป็นการลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันยิงผู้เสียหาย แต่กระสุนด้าน ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายและภริยาผู้เสียหายถึง 3 ครั้ง แต่กระสุนปืนไม่ลั่นทั้ง 3 ครั้ง แสดงว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำผิดไม่สามารถจะทำให้บรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคแรก นั้น เห็นว่า การที่กระสุนปืนด้านเป็นเพียงการเป็นไปไม่ได้โดยเผอิญ หาเป็นการแน่แท้ว่าจะไม่สามารถทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายจากการยิงของจำเลยที่ 1 เช่นนั้นไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เข้าลักษณะพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 81 วรรคแรก กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share