คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุชื่อ ศ. เป็นผู้ออกตั๋ว แต่ลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเป็น ส. เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศ. และ ส. เป็นบุคคลคนเดียวกันตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ทั้งไม่ขัดกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ว่าจะต้องระบุชื่อผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินคงบังคับเพียงว่าต้อง มีลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเท่านั้น
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ทำสัญญาค้ำประกัน ส. เท่านั้นไม่ได้ค้ำประกัน ศ. คำให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม ดังนั้นที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็น และมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,494,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระจนถึงวันฟ้อง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 517,341 บาท ตามที่โจทก์ขอ และดอกเบี้ยในต้นเงิน 3,494,400 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 รวม 13 ฉบับนั้น (เอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 1 ที่ 2 และฉบับที่ 5 ถึงฉบับที่ 15) เป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกในนามนายสิน สุขประสิทธิ์ เท่านั้นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกในนามนายศิลาชัยหรือออกในนามของนายศิลาชัยแต่ลงลายมือชื่อว่า “สิน สุขประสิทธิ์” (เอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 5 ถึงฉบับที่ 15 และฉบับที่ 1 ที่ 2 ) จำเลยที่ 2 ไม่ได้ค้ำประกันเพราะเป็นคนละคนกับนายสินสุขประสิทธิ์ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 982,983 เท่ากับไม่มีลายมือชื่อของผู้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113, 115 พิเคราะห์แล้วเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า นายสิน สุขประสิทธิ์ กับ นายศิลาชัย สุขประสิทธิ์เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีนางสาวรัชนี พลกุล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า นายสิน สุขประสิทธิ์ กับนายศิลาชัยสุขประสิทธิ์เป็นบุคคลเดียวกัน ตอนมาขอกู้เงินใช้ชื่อว่า “สินสุขประสิทธิ์”ต่อมาแจ้งว่าเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศิลาชัย” โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรองว่าชื่อทั้งสองนี้เป็นชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่า “ด้วยตามที่ข้าพเจ้านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ ได้กู้เงินตามสัญญากู้เลขที่ 293/2519 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2519 จำนวนเงิน 800,000 บาท โดยมีโฉนดที่ดินเลขที่ 20073ตำบลสุริยวงศ์ อำเภอบางรัก ค้ำประกันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2519 และได้รับเงินไปแล้วนั้น ทางบริษัทได้จ่ายเช็คธนาคารศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ เลขที่ 703308 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2519 จำนวนเงิน 800,000 บาท ให้ในนามนายสิน สุขประสิทธิ์ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ และนายสิน สุขประสิทธิ์ เป็นบุคคลคนเดียวกัน ตามบัตรประชาชนของข้าพเจ้าเลขที่ 2 จบ. 1-026855 อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งใช้ชื่อว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ แต่การใช้เช็คกับธนาคารและวงธุรกิจการค้าข้าพเจ้าใช้ชื่อว่า นายสิน สุขประสิทธิ์ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อความข้างต้นเป็นความจริงและข้าพเจ้าได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อทั้งสองนามไว้ ณ ที่นี้ด้วย” ซึ่งหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.7 ลงลายมือชื่อนายสิน สุขประสิทธิ์ และมีตัวอย่างลายมือชื่อนายสิน สุขประสิทธิ์ และนายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ ไว้ด้านล่างด้วย จะเห็นได้ว่าหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.7 นั้นนอกจากจะมีข้อความระบุชัดเจนว่านายสิน สุขประสิทธิ์ กับนายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ เป็นบุคคลคนเดียวกันแล้ว ยังได้กล่าวเท้าความถึงหนี้สินตามสัญญากู้เงินและการที่โจทก์ได้จ่ายเช็คธนาคารศรีอยุธยาสำนักงานใหญ่ให้แก่นายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ในนามของนายสิน สุขประสิทธิ์ และระบุด้วยว่าตามบัตรประชาชนชื่อ นายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ แต่การใช้เช็คกับธนาคารและวงธุรกิจการค้าใช้ชื่อนายสิน สุขประสิทธิ์ จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างแต่อย่างใดว่าหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.7 ไม่ถูกต้อง คงนำสืบแต่เพียงว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ เป็นคนละคนกับนายสิน สุขประสิทธิ์ เท่านั้น นอกจากนี้หลักฐานพยานโจทก์ชอบด้วยเหตุผลดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้แล้วหลักฐานพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ กับนายสิน สุขประสิทธิ์ เป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นการที่ตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 จะระบุว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ เป็นผู้ออกตั๋ว และลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเป็นนายสิน สุขประสิทธิ์ ก็ดี (ตามเอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 1 และที่ 2) ระบุชื่อนายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ เป็นผู้ออกตั๋วและลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเป็นนายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ ก็ดี (ตามเอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 5 ถึง 15) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายศิลาชัย สุขประสิทธิ์และนายสิน สุขประสิทธิ์ เป็นบุคคลเดียวกันแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด ทั้งไม่ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่มีลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องระบุชื่อผู้ออกตั๋วในตั๋วสัญญาใช้เงิน คงบังคับว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ออกตั๋วเท่านั้น ซึ่งตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ฉบับที่ 1 ที่ 2 และฉบับที่ 5 ถึงฉบับที่ 15 มีลายมือชื่อผู้ออกตั๋วทุกฉบับแล้ว และมีลักษณะครบถ้วนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 982 ทุกประการ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยข้อที่ 2 มีว่า การที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารปลอมเพราะมีการแก้ไขวันครบกำหนดสัญญาเป็นวันที่ 16 มิถุนายน 2521 นั้นเป็นการนำสืบนอกประเด็นจากคำให้การของจำเลยที่ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำให้การของจำเลยที่ 2 นั้นมิได้ปฏิเสธว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาที่ทำปลอมขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันนายสิน สุขประสิทธิ์ เท่านั้นไม่ได้ค้ำประกัน นายศิลาชัย สุขประสิทธิ์ คำให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารปลอม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 2 เป็นเอกสารปลอมโดยมีการแก้ไขวันครบกำหนดสัญญานั้น จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่จำเลยที่ 2 ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การและมิใช่เรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ยกข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้ค้ำประกันต่อมาเท่านั้นจึงต้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การอีกเช่นกัน และมิใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ยกข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้”

พิพากษายืน

Share