คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8869/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนและนายหน้าให้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยและให้โจทก์มีอำนาจนำเงินที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ในวันที่ทำสัญญาจำเลยได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบมาร์จิ้นซึ่งเป็นการซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินเชื่อ ต่อมาจำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์หุ้นบริษัท ร. โดยให้โจทก์เป็นตัวแทนการซื้อหุ้นแบบมาร์จิ้น จำเลยค้างชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยและจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ การซื้อขายหุ้นที่จำเลยค้างชำระไม่ใช่การซื้อขายแบบเงินสด การที่โจทก์ดำเนินการขายหุ้นและนำเงินมาหักกลบลบหนี้ที่ค้างชำระจึงไม่ขัดต่อระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สมาชิกถือปฏิบัติในการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕๓๗,๗๑๑.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๓๔๖,๑๒๘.๕๗ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากหนังสือสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและนายหน้าให้ซื้อขายหลักทรัพย์มีสาระสำคัญแห่งสัญญาขัดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เกิดจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยมิได้ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทำการซื้อขายหลักทรัพย์ กล่าวคือ โจทก์ซื้อหุ้นตามคำสั่งของจำเลยแล้วไม่แจ้งค่าซื้อหลักทรัพย์ให้จำเลยทราบเพื่อจำเลยจะได้ชำระค่าหุ้นแก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่โจทก์เก็บหุ้นที่สั่งซื้อไว้และคิดดอกเบี้ยจนมูลหนี้ค่าหุ้นลดลงและเมื่อโจทก์นำหุ้น ที่จำเลยสั่งซื้อไว้นั้นออกขายโจทก์ก็มิได้แจ้งให้จำเลยชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังขาดอยู่กลับทำการหักกลบลบหนี้ แล้วเรียกให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ จำเลยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบมาร์จิ้น โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินมาวางเป็นประกันการชำระค่าหุ้นเป็นเงิน ๗๘๕,๑๗๒ บาท จำเลยสั่งซื้อหุ้นเป็นเงิน ๑,๑๐๕,๕๐๐ บาท โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินหักชำระหนี้ค่าหุ้นแล้วคงค้างชำระหนี้อีก ๓๒๐,๓๒๘ บาท จำเลยได้ชำระหนี้ค่าหุ้นที่ค้างนั้นแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕๓๗,๗๑๑.๘๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๘ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๓๔๖,๑๒๘.๕๗ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ (ฟ้องวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๙) ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนและนายหน้าให้ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลย และให้โจทก์มีอำนาจนำเงินที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ต่อมาวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยอมรับว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จากการซื้อขายหลักทรัพย์และหนี้อื่น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๑๙,๗๖๒.๖๘ บาท และยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ. ๓ หรือไม่ โจทก์มีเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์ซึ่งดูแลบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยด้วยเบิกความว่า ในวันที่จำเลยทำหนังสือแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์นั้น จำเลยได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบมาร์จิ้น ซึ่งหมายความว่าเป็นการซื้อหลักทรัพย์ด้วยเงินเชื่อด้วย จำเลยสั่งซื้อหุ้นบริษัท ร. ๔ ครั้ง รวมเป็นเงิน ๒,๑๙๓,๕๑๓ บาท ตามใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ. ๑๐ จำเลยชำระค่าหุ้นดังกล่าวคืนแก่โจทก์บางส่วน คงค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน ๕๑๙,๗๖๒.๖๘ บาท ตามหลักฐานการผ่อนชำระหนี้เอกสารหมาย จ. ๑๑ เห็นว่า ตามใบยืนยันการซื้อขายหลักทรัพย์เอกสารหมาย จ. ๑๐ เฉพาะรายการที่ ๔ จำนวน ๕,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๑,๑๐๕,๕๐๐ บาท นั้น ได้มีการทำหลักฐานแสดงรายละเอียดการผ่อนชำระหนี้เอกสารหมาย จ. ๑๑ ระบุชื่อลูกค้าคือจำเลยประเภทบัญชีมาร์จิ้น ยอดเงินที่ค้างต้นเงินและดอกเบี้ย ณ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ รวมเป็นเงิน ๕๑๙,๗๖๒.๖๘ บาท ตรงกับยอดเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ. ๓ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า เพียง ณ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จากการซื้อขายหลักทรัพย์และหนี้อื่น ๆ รวมทั้งสิ้น ๕๑๙,๗๖๒.๖๘ บาท จำเลยไม่ได้นำสืบพยานหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าว คงมีแต่ตัวจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไปโดยยังไม่มีการกรอกข้อความ และตามคำให้การของจำเลยเองก็รับว่า จำเลยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบมาร์จิ้น โดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินวางเป็นประกันการชำระค่าหุ้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งโจทก์ซื้อหลักทรัพย์หุ้นบริษัท ร. ให้ โดยให้โจทก์เป็นตัวแทนการซื้อขายหุ้นแบบมาร์จิ้นหรือเงินเชื่อ จำเลยค้างชำระค่าหุ้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน ๕๑๙,๗๖๒.๖๘ บาท และจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ ดังนั้น เมื่อการซื้อขายหุ้นที่จำเลยค้างชำระนั้นตกลงกันเป็นแบบมาร์จิ้นหรือเงินเชื่อ ไม่ใช่แบบเงินสด การที่โจทก์ดำเนินการขายหุ้นและนำเงินมาหักกลบลบหนี้ ที่ค้างชำระจึงไม่ขัดต่อระเบียบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้สมาชิกถือปฏิบัติในการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินสดเอกสารหมาย ล. ๔ ข้อ (๔) ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ. ๓ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๐,๐๐๐ บาท.

Share