คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6214-6216/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีอาญานั้น แม้จำเลยจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยก็ตาม แต่การขอแก้ไขคำให้การจำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยอีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่จำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขคำให้การเช่นนี้จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ศาลไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การแล้วจึงพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง
โจทก์แยกฟ้องคดีเป็นสามสำนวนและมิได้ขอให้นับโทษติดต่อกันแม้จะรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ศาลพิพากษาให้นับโทษแต่ละสำนวนต่อกันจึงเป็นการเกินคำขอไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย จำนวน 3 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 จำนวนเงิน 200,000 บาท ฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2540 จำนวนเงิน 300,000 บาทและฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 300,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายแล้วมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามบันทึกข้อตกลงชำระหนี้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนดชำระ โจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 วันที่ 6 ตุลาคม2540 และวันที่ 5 มกราคม 2541 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า “บัญชีปิดแล้ว” การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสามสำนวน

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน แล้วต่อมาขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพทั้งสามสำนวน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม3 กระทง เป็นจำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตโดยเห็นว่าจำเลยประวิงคดี แล้วมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 ที่จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยได้ขอเลื่อนคดีมาโดยตลอด โดยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลแพ่ง วันที่ 7ตุลาคม 2541 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยป่วย วันที่ 18 กุมภาพันธ์2542 ขอเลื่อนคดีอ้างว่าจำเลยป่วย วันที่ 9 เมษายน 2542 จำเลยขอถอนคำให้การปฏิเสธเดิม ขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ และขอเลื่อนการฟังคำพิพากษา วันที่ 30 กรกฎาคม2542 ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาเพื่อหาเงินมาชำระให้โจทก์ วันที่ 31สิงหาคม 2542 จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์ การขอเลื่อนคดีดังกล่าวจึงเป็นการประวิงคดี ในคดีอาญาแม้จำเลยจะให้การหรือไม่เป็นสิทธิของจำเลยก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกประการไว้แล้ว ซึ่งแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง และการขอแก้คำให้การของจำเลย สามารถยื่นคำร้องขอแก้คำให้การไว้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสองเท่านั้น มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลเห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ได้ การที่จำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ และขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร คำสั่งของศาลล่างทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย และกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยยื่นคำให้การไว้แล้วการที่จำเลยยื่นคำให้การเข้ามาใหม่โดยมีผลทำให้คำให้การเดิมที่ยื่นไว้เปลี่ยนแปลงไปย่อมเป็นการแก้ไขคำให้การเดิม ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง และที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยได้ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ และขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธแล้วศาลจะต้องให้คู่ความนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อศาลไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเดิมจึงเป็นเรื่องที่จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องและคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี มิได้มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลจึงพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรกศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยแยกฟ้องเป็นสามสำนวน ซึ่งคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนไม่ได้ขอให้นับโทษจำเลยติดต่อกันจึงนับโทษต่อกันไม่ได้ แม้ศาลจะรวมพิจารณาและพิพากษาทั้งสามสำนวนเข้าด้วยกันก็ตาม เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษจำเลยแต่ละสำนวนต่อกันจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 1 เดือนโดยไม่นับโทษติดต่อกัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share