คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ก่อนคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา มีคดีซึ่งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นอีกคดีหนึ่งว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) ขายฝากที่ดินแปลงเดียวกับคดีนี้แก่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ในราคา 8,500,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ตามสัญญาขายฝากฉบับเดียวกับคดีนี้ จำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้รับเงินค่าขายฝากครบถ้วน แล้วจำเลย (โจทก์คดีนี้) ไม่ไถ่คืนภายในกำหนด และไม่ออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝากดังกล่าว ขอให้ขับไล่และเรียกค่าขาดประโยชน์ โจทก์คดีนี้ให้การต่อสู้คดีดังกล่าวทำนองเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้ว่า โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระเงินค่าขายฝากไม่ครบ ขาดอยู่ 1,500,000 บาท กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังโจทก์ ศาลชั้นต้นคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้รับเงินค่าขายฝากครบจำนวนตามข้อความที่ระบุในสัญญาขายฝาก และมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลย (โจทก์คดีนี้) พร้อมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) จำเลย (โจทก์คดีนี้) อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จำเลย (โจทก์คดีนี้) ฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งคดีดังกล่าวว่า ฎีกาของจำเลย (โจทก์คดีนี้) เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา เช่นนี้ เป็นกรณีที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า จำเลยคดีนี้ชำระเงินค่าขายฝากให้แก่โจทก์คดีนี้ครบถ้วนแล้ว มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์คดีนี้จึงตกอยู่ภายใต้บังคับเรื่องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 จึงไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยคดีนี้จะมิได้ยกเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือ 1,500,000 บาท แก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าก่อนคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา มีคดีซึ่งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นอีกคดีหนึ่งว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) ขายฝากที่ดินแปลงเดียวกับคดีนี้แก่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ในราคา 8,500,000 บาท กำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ตามสัญญาขายฝากฉบับเดียวกับคดีนี้ จำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้รับเงินค่าขายฝากครบถ้วน แล้วจำเลย (โจทก์คดีนี้) ไม่ไถ่คืนภายในกำหนด และไม่ออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายฝากดังกล่าว ขอให้ขับไล่และเรียกค่าขาดประโยชน์ โจทก์คดีนี้ให้การต่อสู้คดีดังกล่าวทำนองเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้ว่า โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ชำระเงินค่าขายฝากไม่ครบ ขาดอยู่ 1,500,000 บาท กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังโจทก์ ศาลชั้นต้นคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า จำเลย (โจทก์คดีนี้) ได้รับเงินค่าขายฝากครบจำนวนตามข้อความที่ระบุในสัญญาขายฝาก และมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลย (โจทก์คดีนี้) พร้อมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1234/2556 ของศาลชั้นต้น จำเลย (โจทก์คดีนี้) อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 362/2557 ของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลย (โจทก์คดีนี้) ฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งคดีดังกล่าวว่า ฎีกาของจำเลย (โจทก์คดีนี้) เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกา เช่นนี้ เห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า จำเลยคดีนี้ชำระเงินค่าขายฝากให้แก่โจทก์คดีนี้ครบถ้วนแล้ว มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์คดีนี้จึงตกอยู่ภายใต้บังคับเรื่องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จึงไม่อาจวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยคดีนี้จะมิได้ยกเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share