คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 นั่งคู่มากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ของกลางที่มีเลื่อยยนต์ของกลางวางอยู่ที่กระบะท้ายรถ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองเลื่อยยนต์ของกลาง ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับเลื่อยยนต์ของกลางว่านำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือของต้องกำกัดหรือของต้องห้ามหรือของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของที่รู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อกำกัด จำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนโดยสมัครใจตามบันทึกคำให้การที่พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยที่ 2 ในชั้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้เปิดประตูรถวิ่งหลบหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 ด้วย เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 น่าจะทราบดีว่าสิ่งของที่จำเลยที่ 1 บรรทุกมาในรถยนต์ของกลางเป็นของผิดกฎหมาย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามและข้อกำกัด
โทษปรับรวมกันเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วตามที่ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ บัญญัติไว้ ค่าอากรดังกล่าวย่อมหมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น ไม่รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีฝ่ายสรรพากรด้วย
จำเลยทั้งสองกระทำความผิดร่วมกันและศาลจะต้องพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ถือว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขโทษปรับตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และ 225
ศาลอุทธรณ์ได้รวมโทษจำคุกของจำเลยแต่ละกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ เป็นผลร้ายแก่จำเลยเพราะมีผลเป็นการนำโทษส่วนที่เกิน 12 เดือน มาคิดคำนวณเป็น 1 ปี อยู่ในตัว ทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกในปีสุดท้ายนานขึ้น 5 วัน หรือ 6 วัน หากตรงกับปีอธิกสุรทิน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง ที่ถูกศาลอุทธรณ์ต้องลดโทษให้จำเลยที่ 2 เป็นรายกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยได้
ตาม พ.ร.บ. ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 ที่บัญญัติไว้มีใจความว่า สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ จึงให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายเลื่อยยนต์ของกลางได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จ่ายสินบนร้อยละ 30 ของค่าปรับ และจ่ายรางวัลร้อยละ 25 ของค่าปรับ จึงยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกับพวกตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗ , ๑๑ , ๖๙ , ๗๓ , ๗๔ , ๗๔ ทวิ , ๗๔ จัตวา พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔ , ๖ , ๑๖ (๒) (๙) , ๒๔ , ๒๕ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ , ๒๗ ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔ , ๕ , ๖ , ๗ , ๘ , ๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๘๓ , ๙๑ ริบของกลาง และจ่ายสินบนและรางวัลนำจับตามกฎหมาย
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อ (ข) ข้อ (ค) และข้อ (ง) ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ก) จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานรับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์อันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามฟ้องข้อ (ก) ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์ของกลาง โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและข้อกำกัดด้วยหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของเจ้าพนักงานป่าไม้และพนักงานพิทักษ์ป่าว่าขณะเกิดเหตุพยานทั้งสามเห็นจำเลยที่ ๒ นั่งคู่มากับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคนขับรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อ ของกลางที่มีเลื่อยยนต์ของกลางวางอยู่ที่กระบะท้ายรถ จึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองเลื่อยยนต์ของกลาง และได้ความจากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ชั้นสอบสวนพยานได้แจ้งข้อหาสอบปากคำจำเลยที่ ๒ แล้วบันทึกไว้ ตามบันทึกคำให้การซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ ๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับเลื่อยยนต์ของกลางว่านำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือของต้องกำกัดหรือของต้องห้ามหรือของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของที่รู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อกำกัด จำเลยที่ ๒ ได้ให้การรับสารภาพในข้อหานี้ โดยรับว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับพวกรับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามหรือข้อกำกัด และจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และพวกที่หลบหนีใช้เลื่อยยนต์ของกลางตัดโค่นไม้ของกลาง เชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนโดยสมัครใจตามที่พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้จริงตามที่โจทก์นำสืบ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยที่ ๒ ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยทั้งสองอีกว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ได้เปิดประตูรถวิ่งหลบหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ น่าจะทราบดีว่าสิ่งของที่จำเลยที่ ๑ บรรทุกมาในรถยนต์บรรทุก ๖ ล้อ ของกลางเป็นของผิดกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานี้ เมื่อนำมาฟังประกอบกันแล้วจึงมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับไว้ซึ่งเลื่อยยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้ามและข้อกำกัดตามที่โจทก์ฟ้องมาในข้อ (ก) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องข้อ (ก) สำหรับจำเลยที่ ๒ มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดของจำเลยที่ ๒ ตามฟ้องข้อ (ก) ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยที่ ๒ ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น…

Share