คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6744/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364,365 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกจำคุก 6 เดือน ในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ฯลฯจำคุก 3 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกไว้โจทก์ร่วมฎีกา ดังนี้ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีได้ น่าจะหมายถึงการอนุญาตเฉพาะในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364,365 เท่านั้น ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายจึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยในข้อหาดังกล่าว
ความผิดในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364,365 แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ไขรอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากแต่ก็ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยมีอาวุธปืนพกขนาด .357 จำนวน 1 กระบอกเลขหมายทะเบียนที่ กท 2311138 ของนายดาบตำรวจอุดร จันทะลือซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนท้องที่แล้ว และมีเครื่องกระสุนปืนขนาด .357 จำนวน 5 นัด ซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวสามารถใช้ยิงร่วมกันได้ ไว้ในครอบครองโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายและจำเลยพาอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในหมู่บ้านซึ่งเป็นทางสาธารณะหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวไปและไม่ใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงาน และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย และจำเลยโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปด้วยได้บุกรุกเข้าไปภายในบริเวณบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางนภาพรคำทะเนตร ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดอาวุธปืนจำนวน1 กระบอก และเครื่องกระสุนปืนจำนวน 5 นัด ที่จำเลยมีไว้และพาไปกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง เหตุเกิดที่ตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72, 72 ทวิ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา นางนภาพร คำทะเนตร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง),72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365(2)(3)(ที่ถูกมาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 364 และ มาตรา 371) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 2,000 บาทฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 4,000 บาท และฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน โดยมีอาวุธ 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมโทษทุกกระทงปรับ10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78แล้ว คงปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้งมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ น่าจะหมายถึงอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365 เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหานี้ ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นโจทก์ร่วมในข้อหาดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าวนี้สำหรับข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษาแก้เป็นให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ดังนี้ ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกอันเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม

Share