คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6082/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยหักจากค่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายเป็นงวด ๆเพื่อเป็นค่าสินค้าที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้ โดยจำเลยจะต้องจ่ายเงินคืนโจทก์เมื่อเก็บค่าสินค้าที่ขายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว เมื่อคดีที่จำเลยฟ้องโรงเรียน ก. เรียกค่าเครื่องพิมพ์ดีดที่โจทก์นำไปขายได้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 แสดงว่าจำเลยได้รับค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วจึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169บรรพ 1 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หนี้การเรียกเงินที่นายจ้างหักจากค่านายหน้าจากการขาย (ค่าจ้าง)ของลูกจ้างเพื่อชำระค่าเสียหายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 บรรพ 1 เดิมโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อปี 2519 ทำหน้าที่พนักงานขาย จำเลยได้เรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์โดยหักจากค่าจ้างตามอัตรารายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับแต่ละเดือนตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2527 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2532รวมเป็นเงิน 154,000 บาท โจทก์ได้ลาออกจากงานเมื่อเดือนธันวาคม 2541 โดยไม่ได้กระทำความเสียหายให้จำเลยแต่จำเลยยังไม่คืนเงินประกันดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินประกันจำนวน 154,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ถูกหักเงินตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2527ถึงวันที่ 15 มกราคม 2532 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 10 ปีแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้เรียกเก็บเงินประกันโดยหักค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือนแต่ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยได้หักเงินโจทก์ไว้เมื่อใด ประกันความเสียหายในเรื่องอะไรจำนวนและงวดละเท่าใด จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาในฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม วันที่โจทก์ลาออกจำเลยได้จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษจำนวน 225,000 บาท ให้โจทก์รับไปแล้ว และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542 โจทก์ได้รับเงินค้ำประกันการทำงานไปจากจำเลย หลังจากลาออกแล้วโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 1868 – 1872/2542โดยไม่ได้กล่าวถึงหรือฟ้องว่าจำเลยยังคงค้างเงินประกันแต่อย่างใดคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่ได้ค้างเงินประกันตามที่โจทก์อ้างขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อปี 2519 ตำแหน่งพนักงานขายโจทก์ได้ลาออกเมื่อปี 2541 แล้วโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเรียกเงินค่านายหน้าจากการขาย คดีตกลงกันได้ ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ จำเลยได้หักเงินค่าจ้างโจทก์เป็นค่าสินค้าที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้รวม 154,000 บาท ต่อมาลูกค้าชำระเงินให้จำเลยครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่คืนเงินที่หักไว้ให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 154,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง (วันที่ 30 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยหักค่าจ้างโจทก์ไว้เป็นเงินประกันตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2532 โดยหักไว้ทุกเดือนซึ่งเป็นการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ แน่นอน มีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 บรรพ 1 เดิมโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 5 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ เห็นว่าอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 บรรพ 1 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยได้หักค่าจ้างโจทก์เป็นงวด ๆ เพื่อเป็นค่าสินค้าที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้นั้นมิใช่เงินที่จำเลยตกลงจ่ายคืนโจทก์เป็นงวด ๆ กรณีนี้จำเลยต้องจ่ายเงินดังกล่าวคืนโจทก์เมื่อจำเลยเก็บค่าสินค้าที่ขายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว คดีที่จำเลยฟ้องโรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์เรียกค่าเครื่องพิมพ์ดีดที่โจทก์นำไปขายนั้นได้เสร็จสิ้นเมื่อปี 2535และปรากฏในเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2535 ให้คืนเงิน154,000 บาท แก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยได้รับค่าสินค้าดังกล่าวจากลูกค้าแล้ว จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปหนี้การเรียกเงินที่นายจ้างหักจากค่านายหน้าจากการขาย (ค่าจ้าง)ของลูกจ้างเพื่อชำระค่าเสียหายดังกล่าวนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 บรรพ 1 เดิม โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2543 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share