แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหน้านั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของจำเลยเสมอไปไม่ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วหากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยได้
คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน และหนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบทั้งสามประเภทหนี้รวมกันเป็นคดีเดียวกัน โดยเสียเงินค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 29 นั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าโจทก์ฟ้องในมูลหนี้แต่ละประเภทรวมกันมาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 29 หรือขอให้ศาลมีคำสั่งขอให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาได้ โดยไม่จำต้องต่อสู้มาในคำร้องขอแก้ไขคำให้การ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ
คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะ ยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะนั้น แม้การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การไว้แล้วว่ายอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องตามสัญญาทั้งสามประเภทเคลือบคลุมและไม่ถูกต้อง กับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในกรณีผิดนัดสูงเกินส่วน ทั้งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องนำสืบถึงการคิดยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถนำสืบหักล้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียงใดได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การ
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การที่ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฟ้องคดีของโจทก์ซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในข้อนี้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 และไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เคยมีการฟ้องคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้วอย่างไรที่จะทำให้คดีนี้กลายเป็นฟ้องซ้อนจึงไม่ใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยอ้างว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียงและเสียหายในการค้า มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องแย้งในเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำละเมิด จึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 260,298,090.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 244,375,040.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักร กับยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
หลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องทั้งสามประเภทเป็นหนี้คนละประเภทและแยกจากกันได้ โจทก์สามารถแยกฟ้องเป็นรายคดี การที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาโดยเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 ชอบที่ศาลจะจำหน่ายคดี โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะ ยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนำสต็อกข้าวเปลือกและข้าวสารแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญา ต่อมาข้าวที่จำนำไว้บางส่วนสูญหายไป โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าข้าวที่สูญหายไปมาชำระคืนโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉย หนี้ที่โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์เป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับหนี้ในคดีนี้ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการซ้ำซ้อนกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบและเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ผิดนัด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการทำละเมิด ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียง เสียโอกาสทางการค้าจนอาจถูกสถาบันการเงินอื่นระงับการให้กู้เงิน ทำให้กิจการขายข้าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องขาดเงินทุนหมุนเวียนไม่สามารถขายข้าวได้ตามปกติ ขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหาย 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์แถลงคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องหลังวันชี้สองสถาน และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากศาลชี้สองสถาน โดยไม่ปรากฏเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การและไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 การแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานโจทก์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนหน้านั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิจำเลยที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ หาใช่เป็นบทบัญญัติบังคับศาลที่จะต้องอนุญาตตามคำร้องของจำเลยเสมอไปไม่ เมื่อศาลพิจารณาคำร้องของจำเลยแล้วหากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องของจำเลยได้ กรณีตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกในข้อที่ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน และหนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบทั้งสามประเภทหนี้รวมกันเป็นคดีเดียวกัน โดยเสียเงินค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 นั้น เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่าโจทก์ฟ้องในมูลหนี้แต่ละประเภทรวมกันมาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแยกคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 หรือขอให้ศาลมีคำสั่งขอให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาได้ โดยไม่จำต้องต่อสู้มาในคำร้องขอแก้ไขคำให้การ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การในข้อนี้
สำหรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการที่สองในข้อที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะ ยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องมาจึงไม่ถูกต้องและเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แม้การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การไว้แล้วว่ายอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องตามสัญญาทั้งสามประเภทเคลือบคลุมและไม่ถูกต้อง กับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในกรณีผิดนัดสูงเกินส่วน ทั้งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไว้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องนำสืบถึงการคิดยอดหนี้และดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถนำสืบหักล้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ถูกต้องตามกฎหมายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเพียงใดได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การในข้อนี้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การในประการสุดท้ายในข้อที่ว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงเจ้าหนี้ซึ่งเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฟ้องคดีของโจทก์ซ้ำซ้อนกันอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในข้อนี้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 และไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เคยมีการฟ้องคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้วอย่างไรที่จะทำให้คดีนี้กลายเป็นฟ้องซ้อนจึงไม่ใช่เป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิขอแก้ไขคำให้การในข้อนี้
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการที่สองที่ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบเพราะฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ซึ่งมีตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารประกอบสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์โดยอ้างว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียงและเสียหายในการค้า เห็นได้ว่า มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในฟ้องแย้งในเรื่องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำละเมิด จึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกันกับฟ้องเดิมจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขคำให้การและไม่รับฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ