คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานในการย่นหรือขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ และตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและต้องทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่
ศาลแรงงานภาค 5 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 แต่โจทก์ซึ่งทราบวันนัดฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้วไม่มาศาล และเพิ่งมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 16 มกราคม 2555 โจทก์อ้างว่าดำเนินคดีเองแต่ได้ปรึกษานิติกรศาลแรงงานภาค 5 มาโดยตลอด การที่โจทก์ไม่มาฟังคำพิพากษาและติดตามขอคัดคำพิพากษาหรือตรวจสอบรวมทั้งขอคำปรึกษาจากนิติกรศาลแรงงานภาค 5 ว่าคำพิพากษาศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์เอง มิใช่เหตุความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานภาค 5 จะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ต่อมาสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างได้สมัครเป็นผู้ประกันตนต่อตามมาตรา 39 การที่โจทก์มิได้เป็นผู้มีสภาพการทำงานดังเช่นลูกจ้าง แต่ยังคงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามมาตรา 64 เช่นเดียวกับกรณีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรตามมาตรา 66 และมาตรา 67 และการได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพตามมาตรา 71 ที่ไม่จำต้องคำนึงว่าเป็นผู้มีรายได้จากการประกอบอาชีพ ดังนั้น การที่แพทย์วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นโรคปวดท้องควรพักรักษาตัว 2 วัน โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 80 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 160 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการอุทธรณ์ที่มีคำวินิจฉัยว่าขณะเป็นผู้ประกันตนโจทก์ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรจึงไม่เป็นผู้ประกันตนที่ขาดรายได้เนื่องจากหยุดงานเพื่อรักษาตัวตามมาตรา 64 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ และขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด รายละเอียดตามคำร้องลงวันที่ 16 มกราคม 2555
ศาลแรงงานภาค 5 มีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่มีเหตุผลว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนวันครบกำหนด ทั้งคำร้องก็ไม่มีเหตุผลสมควรที่จะขยายระยะเวลาให้ ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินคดีแรงงานจึงเข้าใจว่ายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน โดยไม่ทราบว่ามีกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน เพิ่งทราบจากนิติกรศาลแรงงานภาค 5 และล่วงเลยระยะเวลามาแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ไม่ได้บัญญัติว่าศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาได้จะต้องเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษและทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย โจทก์จึงมีสิทธิขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานในการย่นหรือขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะกระทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและต้องทำก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ศาลแรงงานภาค 5 อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 แต่โจทก์ซึ่งทราบวันนัดฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้วไม่มาศาลและเพิ่งมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 16 มกราคม 2555 โดยอ้างเหตุไม่มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินคดีแรงงานทำให้เข้าใจว่ายื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน ทั้งที่โจทก์อ้างว่าดำเนินคดีเองแต่ได้ปรึกษานิติกรศาลแรงงานภาค 5 มาโดยตลอด การที่โจทก์ไม่มาฟังคำพิพากษาและติดตามขอคัดคำพิพากษาหรือตรวจสอบรวมทั้งขอคำปรึกษาจากนิติกรศาลแรงงานภาค 5 ว่าคำพิพากษาศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์เอง มิใช่เหตุความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่ศาลแรงงานภาค 5 จะพึงขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 คำสั่งศาลแรงงานภาค 5 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share