แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัท ร. มีข้อตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงด้วยหรือให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง แม้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระบุว่า ภาระหนี้และสิทธิประโยชน์ในมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้ทุกรายกับบริษัท ร. ยังไม่ระงับสิ้นไป หากบริษัท ร. ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ทุกรายมีอำนาจนำมูลหนี้เดิมไปฟ้องร้องได้ แต่ลูกหนี้มิได้ร่วมตกลงหรือเป็นคู่สัญญาด้วยจึงไม่อาจใช้บังคับแก่ลูกหนี้ได้ เมื่อลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้วเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแน้นซ์ (1991) จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันรวมเป็นเงิน 394,553,342.82 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายที่ 12 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตั๋วแลกเงิน 179,284,873.09 บาท ส่วนมูลหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เนื่องจากลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิด เห็นควรอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 179,284,873.09 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจ่ายเงินให้เจ้าหนี้ต่อเมื่อได้แบ่งเงินให้เจ้าหนี้รายที่ยังไม่เคยได้รับส่วนแบ่งจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือ ปรส. จนมีอัตราเท่าเทียมกับเจ้าหนี้ที่เคยได้รับส่วนแบ่งจาก ปรส. ไปแล้ว ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เฉพาะมูลหนี้อันดับที่ 1 ถึงที่ 12 (มูลหนี้ตั๋วแลกเงิน) ตามคำร้องลงวันที่ 21 เมษายน 2549 เอกสารในสำนวนอันดับที่ 14
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับสำเนาคำร้องขอถอนอุทธรณ์แล้วไม่คัดค้านภายในกำหนดถือว่าไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้เจ้าหนี้ถอนอุทธรณ์ได้ตามขอ สำหรับมูลหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด (เดิมชื่อบริษัทซันรูทโฮเต็ล จำกัด) ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินสินเชื่อวิเทศธนกิจ ฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2538 จำนวน 8,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยลูกหนี้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่เจ้าหนี้เป็นเงิน 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินและดอกเบี้ยผิดนัดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกสารอันดับที่ 14 ครบกำหนดชำระหนี้บริษัทดังกล่าวผิดนัด เจ้าหนี้มีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2540 แจ้งให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2544 บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้มีข้อตกลงให้บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 14 ปี มีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ 4 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2544 เป็นต้นไป ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อ 3.2.1 และ 3.2.4 (ค) โดยลูกหนี้มิได้ร่วมลงนาม ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ทำไว้แก่เจ้าหนี้มีข้อความในข้อ 5. ว่า “ถ้าธนาคารแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาใด ๆ ในสัญญากู้เงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสัญญาอันเกี่ยวกับระยะเวลาชำระหนี้ ธนาคารต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ค้ำประกันก่อน มิฉะนั้น ผู้ค้ำประกันจะเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งหมดตามสัญญาฉบับนี้ทันที” เมื่อสัญญาให้สินเชื่อเอกสารในสำนวนคำขอรับชำระหนี้อันดับที่ 38/8 ซึ่งในข้อ 4.3.1 ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้วว่าบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ต้องชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 7 ปี นับแต่วันเบิกเงินกู้ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยมีข้อตกลงให้บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ชำระหนี้ได้ภายในกำหนด 14 ปี ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการแก้ไขข้อสัญญาเกี่ยวกับระยะเวลาชำระหนี้และเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด จึงต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามที่กำหนดไว้ข้างต้น แม้จะได้ความตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่าขณะทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ได้ทำหนังสือถึงเจ้าหนี้ขอยกเว้นการนำส่งหนังสือให้ความยินยอมของลูกหนี้ผู้ค้ำประกันเนื่องจากลูกหนี้ถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการ อยู่ในความควบคุมของ ปรส. ภาระหน้าที่ทั้งหลายของลูกหนี้จึงเป็นของ ปรส. ทั้งเจ้าหนี้ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทราบถึงสาเหตุที่ลูกหนี้ผู้ค้ำประกันไม่สามารถลงนามในหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวได้และที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีมติให้หนังสือสัญญาค้ำประกันของลูกหนี้ยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏว่าบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัดและเจ้าหนี้ได้ขอให้ ปรส. ให้ความยินยอมแทนลูกหนี้หรืออนุญาตให้ลูกหนี้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมในการที่บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้แต่อย่างใด ทั้ง ปรส. ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เพื่อดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 และวันที่ 5 สิงหาคม 2540 หรือชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ (ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 7 มาตรา 21 และมาตรา 30) เจ้าหนี้เองก็ไม่มีหลักฐานการให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรของ ปรส. มาแสดง ประกอบกับลูกหนี้ถูกผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ล้มละลาย กรณีน่าเชื่อว่า ปรส. ไม่ได้ให้ความยินยอมเนื่องจากเห็นว่าลูกหนี้ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้นั่นเอง ที่เจ้าหนี้อ้างในอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังข้อชี้แจงของตัวแทนบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้เรียกเจ้าหนี้เข้าชี้แจงและให้การเพิ่มเติมนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า บริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ยื่นคำร้องลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน โดยแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายนัดนายอาคมผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ให้นำพยานหลักฐานไปให้สอบสวนนายอาคมไปให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วันที่ 24 กันยายน 2546 โดยไม่ได้เสนอพยานหลักฐานอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด หาใช่ไม่ได้เรียกเจ้าหนี้เข้าชี้แจงดังเจ้าหนี้อ้างไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด มีข้อตกลงผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงด้วยหรือให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง ที่เจ้าหนี้อ้างในอุทธรณ์ทำนองว่า ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด กับเจ้าหนี้ข้อ 3 ระบุว่า ภาระหนี้และสิทธิประโยชน์ในมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้ทุกรายกับบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ยังไม่ระงับสิ้นไป หากบริษัทโรงแรมกรุงเทพ 2000 จำกัด ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เจ้าหนี้ทุกราย (รวมทั้งเจ้าหนี้นี้) มีอำนาจนำมูลหนี้เดิมไปฟ้องร้องได้ลูกหนี้จึงยังต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้น เห็นว่า ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวลูกหนี้มิได้ร่วมตกลงหรือเป็นคู่สัญญาด้วยจึงไม่อาจใช้บังคับแก่ลูกหนี้ได้ ลูกหนี้จึงหาต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ดังที่เจ้าหนี้อ้างไม่ เมื่อลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าว คำสั่งศาลล้มละลายกลางชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ